กระแสความคิดปรัชญากรีก
วารีญา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม
3.1 ปรัชญาก่อนสมัยโสกราติส
ปรัชญากรีกเริ่มขึ้นเมื่อชาวกรีกมีความพยายามจะแสวงหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกโดยไม่ต้องผ่านการอธิบายเชิงศรัทธาและอำนาจทางศาสนา แต่ด้วยวิธีการที่ผ่านกระบวนการใช้เหตุผล กระแสความคิดปรัชญากรีกยุคเริ่มแรกเกิดขึ้นเมื่อประมาณปีที่ 6-4 ก่อนคริศตกาล เป็นปรัชญายุคก่อนโสกราตีส ด้วยเหตุที่สภาพทางภูมิศาสตร์ของกรีกเป็นดินแดนชายฝั่งทะเล มีประเทศเป็นเทือกเขา ดินแดนบ่อเกิดปรัชญากรีกยุคก่อตัวคือ เมืองท่าชายฝั่งทะเลชื่อมิเลตุส (Miletus) ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแคว้นไอโอเนียในเอเชียน้อย ชายฝั่งทะเลเอเจียนตรงข้ามกับเอเธนส์ นักปรัชญากรีกยุคก่อตัวนี้ บางทีจึงได้รับการขนานนามว่า นักปรัชญามิเลเชียน หรือ นักปราชญ์ไอโอเนียน
ด้วยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งทางการค้า ศิลปวิทยาการต่าง ๆ และความเชื่อทางศาสนาแห่งเทพกรนัม พิธีบวงสรวงที่อลังการบนยอดเขาโอลิมปุส การสร้างมหากาพย์ (Epic) เพื่อใช้ในพิธีกรรม ล้วนแต่สะท้อนความนึกคิดเชิงจักรวาลวิทยาอธิบายโลกธรรมชาติที่มีความสัมพันธ์ต่อความเป็นไปของโลกและมนุษย์ กฎธรรมชาติกับกฎธรรมชาติของมนุษย์ แต่เป็นที่น่าทึ่งอย่างยิ่ง สำหรับชาวมิเลเชียน ที่ได้พัฒนากระบวนการแสวงหาความรู้และพัฒนาการทางสติปัญญาที่แยกส่วนออกจากความเชื่อและอำนาจครอบงำความรู้ทางศาสนาได้อย่างอิสระ ด้วยกระบวนการคิดและการใช้เหตุผลอย่างเป็นวิทยาการ จนได้เชื่อว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ยุคแรก
ประเด็นปัญหาทางปรัชญาในระยะแรก ๆ ได้แก่ คำถามว่าโลกถูกสร้างมาจากอะไรและโลกครอบครองอะไรอยู่ อะไรคือแก่นแท้ของโลก สิ่งที่แท้จริงคืออะไร และเราจะสามารถอธิบายกระบวนการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งได้อย่างไร เป็นต้น
นักปรัชญากรีกยุคก่อตัวได้แก่
3.1.1 ธาเลส (Thales: 624-546 กคศ.) นักปรัชญากรีกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปรัชญาชาวตะวันตกคนแรกและเป็นผู้ก่อตั้งวิชาเรขาคณิตและดาราศาสตร์คำนวณ เป็นนักคิดที่ยืนยันว่า สสารประกอบด้วยน้ำ แนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของเขาเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า สิ่งทั้งหลายสร้างขึ้นด้วยอะไร และได้เฝ้าสังเกตการณ์ว่า อะไรคือสิ่งที่คงตัวในสสารมากที่สุด ในที่สุดเขาจึงยืนยันว่า น้ำคือแก่นแท้ของสรรพสิ่ง
3.1.2 อแนกซิมันเดอร์ (Anaximander: กคศ.610 -546 ) ยุคสมัยเดียวกับธาเลส ศิษย์ของธาเลส มีความคิดเห็นพ้องกับอาจารย์ของเขา โดยได้วิเคราะห์ว่า สิ่งที่เป็นสารัตถะย่อมต้องเป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติที่ไร้ขีดจำกัด เมื่อสังเกตดูสิ่งต่าง ๆ รอบตัว พบว่า มีความชุ่มชื้นของน้ำปรากฏอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง น้ำจึงมีคุณสมบัติไร้ขีดจำกัด และเป็นแก่นแท้ของสรรพสิ่ง
3.1.3 อแนกซิเมนีส (Anaximenes:กคศ. 585-528.) เป็นนักคิดร่วมสมัยกับอแนกซิมันเดอร์ เขาได้นำแนวคิดของธาเลส ที่ศึกษาว่า อะไรคือแก่นแท้ของสรรพสิ่ง กับแนวคิดของอแนกซิมันเดอร์ ที่ว่าสิ่งที่เป็นแก่นแท้จะต้องมีคุณสมบัติไร้ขีดจำกัด แล้วนำมาสังเคราะห์เป็นแนวคิดใหม่ว่า สิ่งที่มีคุณสมบัติไร้ขีดจำกัด ไม่น่าจะใช่ น้ำ แต่น่าจะเป็น อากาศธาตุ มากกว่า โดยสังเกตการณ์ดูลักษณะความเคลื่อนไหวของอากาศ (air) เขาได้เสนอแนวคิดสำคัญที่ว่า ความแตกต่างใน “คุณสมบัติ” (quality) เป็นผลมาจากความแตกต่างในด้าน “ปริมาณ” (quantity) ดังเช่นอากาศที่กลั่นตัวในรูปแบบต่าง ๆ เป็นกระแสลม และกระบวนการต่อ ๆ ไปทำให้เกิดน้ำขึ้น จากนั้นจึงเกิดดิน และการจับตัวที่แกร่งที่สุดพบในหินต่าง ๆ
3.1.4 ไพธากอรัส (Pythagoras:กคศ.525-500) เป็นชาวเกาะซามอส (Samos) นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งยุค เขาได้พิสูจน์ความเป็นไปของจักรวาลด้วยทฤษฎีไพธากอรัส (Pythagorean Theorem) ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็น หลักคณิตศาสตร์แท้ทฤษฎีแรก ไพธากอรัสได้ย้ายถิ่นไปพำนักที่เมือง โครโทน (Crotone) อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิตาลีในปัจจุบัน และได้เปิดสถาบันการศึกษาที่เน้นความกลมกลืนของดนตรีกับเรขาคณิต ไพธากอรัส ยืนยันว่า เลข (numbers) คือ ความจริงแท้ (realities) สิ่งทั้งหลายทั่วจักรวาล คือ แบบจำลองของตัวเลข เลข คือแก่นแท้ของสรรพสิ่ง เขาได้นำกระบวนการคิดวิเคราะห์เชิงคณิตศาสตร์มาไตร่ตรองอย่างพินิจพิเคราะห์แล้วอธิบายออกมาอย่างเป็นระบบ เกิดเป็น “แนวคิดเชิงทฤษฎี”
คำว่า ทฤษฎี-Theory เป็นคำที่มาจาก รากศัพท์ภาษากรีก “theorem” มีความหมายตรงกับคำอังกฤษว่า “to look on” หรือคำไทยว่า “พิจารณา ไตร่ตรอง” จากนั้นเขาได้คิดค้นแนวคิดทางปรัชญาว่าด้วย สังกัปของแบบ (the concept of form) โดยอธิบายว่าเป็นแก่นแท้หรือสารัตถะของวัตถุ (matters) เขาอธิบายว่า สิ่งที่เรียกว่า “แบบ-from” หมายถึงสิ่งที่มีขอบเขตจำกัด (limit) ย่อมเป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ด้วยจำนวนเลข (numerical term) จากหลักการนี้เขาได้บูรณาการหลักคณิตศาสตร์กับหลักสุนทรียศาสตร์ในดนตรีกับการแพทย์ ว่า หัวใจของศาสตร์ทั้งสามนี้อยู่ที่ความกลมกลืน (harmony) ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของจำนวนที่พอเหมาะและอัตราส่วนที่จำกัดเฉพาะ ในระบบเสียงดนตรีจะมีอัตราส่วนของจำนวน (numerical ratio) ของตัวโน้ตเพลง โดยตัวโน้ตแต่ละชุดจะต้องมีการแยกเสียงในจำนวนที่ทำให้เกิดระดับเสียงที่สอดคล้องรับกันจึงจะไพเราะ ความกลมกลืน จึงเป็นแบบที่มาจำกัดโครงสร้าง (structure) ที่กำหนดเสียงดนตรีที่หลากหลายของเส้นเสียงในเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ การแพทย์ก็เช่นกัน ความกลมกลืน หรือสัดส่วนที่พอเหมาะระหว่างสิ่งที่มีคุณสมบัติที่เป็นคู่ตรงกันข้ามกัน เช่น ความร้อน-เย็น เปียก-แห้ง และกลุ่มจำนวนของธาตุต่าง ๆ ที่ต่อมาภายหลังเรียกว่า สารชีวเคมี (biochemicals) เป็นที่มาของความมีสุขภาพดี จากตัวอย่างแนวคิดที่กล่าวมานี้ จึงทำให้อัจฉริยภาพของไพธากอรัสได้รับการกล่าวถึงอยู่เสมอมาจนถึงทุกวันนี้ โลกไม่เคยลืมเลือน
3.1.5 เฮราคลิตุส (Heraclitus:กคศ. 504-501.) นักคิดจากตระกูลสูงแห่งเอเฟซุส (Ephesus) ผู้มีจินตนาการทางความคิด และได้รับการยกย่องในสถานะสำคัญเทียบชั้นกับปรัชญาเมธีเพลโต และนักปรัชญาสโตอิค (Stoic) เขาเป็นนักคิดที่ได้รับความชื่นชมอย่างสูงจากนักคิดชั้นนำของโลกอย่างเช่น เฮเกล (Hegel) และนิทซ์ช (Nietzsche) ซึ่งเป็นนักคิดปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่
เฮราคลิตุส เป็นปรัชญาเมธีชาวกรีก ผู้ประกาศว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นสภาวธรรมชาติของจักรวาล เขามีความเชื่อว่า จักรวาลมีสภาวะเป็นกระแสของความเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย (a constant state of flux or change) แนวคิดทางปรัชญาของเขาสนใจในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในสรรพสิ่ง แนวคิดหลักคือ “ทุกสิ่งล้วนเป็นกระแส-All things are in flux.) โดยอธิบายเปรียบเทียบว่า “ไม่มีใครสามารถก้าวลงไปสัมผัสสายน้ำเดียวกัน 2 ครั้งในแม่น้ำเดียวกันนั้นได้-You cannot step twice into the same river.” (อ้างโดย Stumpf, 1989,13) แม่น้ำย่อมเปลี่ยนไป เพราะกระแสน้ำมีการไหลอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา หลักการว่าด้วยกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ สามารถนำมาใช้อธิบายแก่สรรพสิ่งได้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นสสาร วัตถุ โลก จักรวาล และชีวิตมนุษย์ ทุกสิ่งย่อมมีความเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ถาวร มนุษย์ก็ทรงตัวอยู่ในรูปแบบหนึ่งเริ่มตั้งแต่เกิดมา เติบโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็แก่เฒ่าชราลงและเสื่อมสภาพไป แม้แต่จิตวิญญาณ (Soul) ของคนเรา ก็มีความเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันออกไปตามกาลเวลา
ความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเอกภาพท่ามกลางความหลากหลายของสรรพสิ่ง (a unity in diversity) ในความเปลี่ยนแปลงนั้นน่าที่จะมีตัวการที่มาเปลี่ยนแปลง เขาสันนิษฐานว่า น่าจะเป็น ธาตุไฟ (Fire) แต่เขาก็ไม่ได้ระบุลงไปว่า ไฟเป็นสารัตถะของสรรพสิ่ง เขาสังเกตว่าไฟแสดงออกถึงกระบวนการของการแปรสภาพ (a process of transformation) แต่ก็น่าจะมีบางสิ่งที่เป็นสารัตถะที่ทำให้ไฟเกิดความเปลี่ยนแปลง หลักการนี้เขาเรียกว่า “หลักการว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงในตนเอง-the principle of change itself” สิ่งหนึ่งจึงสามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นอีกสิ่งหนึ่งได้เมื่อมีตัวการแห่งความเปลี่ยนแปลงในตนเองทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น จักรวาลดำเนินต่อไปแม้ว่าจะมีการแลกเปลี่ยนรูปแบบจากกาลหนึ่งไปสู่กาลหนึ่ง จากหลักว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งที่แตกต่างกันออกไปตามรูปแบบความเปลี่ยนแปลงของไฟ เขาได้เสนอแนวคิดว่าด้วยเหตุผล (the idea of reason) แห่งความเปลี่ยนแปลงว่าเป็นกฎธรรมชาติสากล (Reason as the Universal Law)
กระบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญแต่เป็นผลิตผลของเหตุผลสากลของพระผู้เป็นเจ้า (God’s universal Reason-Logos) เหตุผลนี้เองที่ทำให้ดวงจิตของมนุษย์เกิดภูมิปัญญา (wisdom) จิตวิญญาณของมนุษย์จึงเป็นส่วนหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า (God is Reason) ต่อมาหลักการนี้ได้รับการอ้างอิงในหมู่นักเทววิทยาชาวคริสต์หลายยุคหลายสมัยมาจนทุกวันนี้
หลักแห่งความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ตรงข้ามกัน-The Conflict of Opposites ) เขาได้อธิบายว่า แม้ว่ามนุษย์จะเป็นผู้ทรงเหตุผลและปัญญา แต่ก็มีสภาพการณ์ของความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ตรงข้ามกันให้เห็นอยู่เสมอในชีวิตแวดล้อมของมนุษย์ ทำให้บางครั้งยากที่จะทำความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้เช่น ความเป็นระเบียบ สงบ มั่นคง กับ ความไร้ระเบียบ สับสนอลหม่าน ไม่เป็นปกติสุข สงคราม กับสันติภาพ สุขภาพกับความเจ็บไข้ได้ป่วย ชีวิตกับความตาย ความยุติธรรมถูกต้องกับความไม่เป็นธรรม ความดี-ความชั่ว แท้ที่จริงสิ่งที่ตรงกันข้ามกันเหล่านั้นเป็นสิ่งเดียวกันแต่มีสภาวะที่แตกต่างกัน เขาได้กล่าวไว้ว่า ย่อมเป็นความฉลาดที่ยอมรับว่า สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน (It is wise to agree that all things are one.) (Stumpf, 1988, 16)
3.1.6 พาร์มีนิดีส (Parmenides:เกิดในช่วงประมาณปี กคศ.515.) เป็นนักคิดร่วมสมัยกับเฮราคลิตุส และเป็นผู้สถาปนาสถาบันการศึกษาปรัชญาอีลีติก (The Eleatic School of Philosophy) เขาเป็นนักคิดที่สนใจในประเด็นเกี่ยวกับการอธิบายปรากฏการณ์ของความเปลี่ยนแปลง (the phenomenon of change) โดยได้วิจารณ์แนวคิดว่าด้วยสารัตถะของสรรพสิ่งของนักคิดกลุ่มมิเลเชียน และได้วิพากษ์ จนกระทั่งเสนอแนวคิดที่ว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นภาพลวง (illusion) เขาได้เสนอความคิดแนววิเคราะห์อย่างลึกซึ้งถึงสภาวะ ความมีอยู่ของสรรพสิ่ง ว่า เป็นสิ่งจริง (reality) ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งลวง เป็นความสับสนที่แยกไม่ออกระหว่างความมีอยู่เป็นอยู่ กับความเปลี่ยนแปลง ระหว่าง อาการปรากฏ (appearance) กับ ความเป็นจริง (reality)
3.1.7 เซโน (Zeno: เกิดเมื่อประมาณปี 489 กคศ.) เกิดที่เมืองอีลีอา (Elea) ศิษย์ของพาร์มีนิดิส เปรียบเทียบวัยกันแล้ว เมื่อเขาอายุได้ 40 ปี อาจารย์ของเขามีอายุได้ 65 ปี และตอบนั้นท่านโสกราตีสยังเพิ่งอยู่ในวัยเด็กหนุ่มอยู่ เซโนมีความสนใจประเด็นปัญหาเรื่องการโต้ตอบวิพากษ์ปรัชญาของพาร์มีนิดีสในหมู่นักคิดทั้งหลายในขณะนั้น เช่น กลุ่มนักคิดสำนักของไพธากอรัส มีความคิดที่โต้แย้งและปฏิเสธหลักการของพาร์มีนิดีส ในมุมมองที่ว่าความจริงแท้มีเพียงหนึ่ง (Reality is One.) ซึ่งสำนักความคิดของไพธากอรัส อธิบายว่า ความจริงแท้มีหลากหลาย (plurality of things) หรือแนวคิดที่แย้งว่า ความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งจริง เซโน จึงได้เสนอแนวคิดโต้แย้งกลับไปว่า ในการมองความจริงแท้ บุคคลควรแยกแยะให้ออกระหว่าง สิ่งที่เรียกว่า อาการที่ปรากฏ (appearance) กับความเป็นจริง (reality) ให้ทะลุปรุโปร่งเสียก่อน อย่าไปมองโลกอย่างแยกเป็นส่วน ๆ แต่ต้องมองดูทั้งระบบรวมจึงจะสามารถเข้าใจความจริงแท้ของโลกได้ และต้องมองให้เห็นถึงความสัมพันธ์กัน ประสาทสัมผัสทำให้เรามีการรับรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ และทำให้เรามองไม่ผ่านทะลุไปถึงความเป็นจริง ผัสสะมักจะมาหลอกลวงให้เรามองไม่เห็นความจริง ไม่รู้จักแยกแยะว่าอะไรเป็นเพียง ความเห็น และอะไรเป็นความรู้แท้ (knowledge) การแสวงหาความรู้จึงต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการคิด (thought) แทนที่จะใช้เพียงกระบวนการรับกระทบทางผัสสะ (sensation) เซโนได้เสนอหลักคิดว่าด้วยความขัดแย้งในตัวเอง (paradox) ไว้ 4 เรื่อง ได้แก่
(1) เรื่องราวว่าด้วยลู่วิ่งแข่งขัน (the racecourse) เขากล่าวว่า สิ่งที่เป็นหนึ่งแล้วย่อมแบ่งไม่ได้อีก และย่อมดำเนินไปสู่จุดบรรจบกันอย่างต่อเนื่องในความเป็นหนึ่งเดียวนั้น เช่นเดียวกับนักวิ่งกรีฑา ในลู่วิ่งแข่ง ที่ออกวิ่งจากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดเส้นชัย เส้นทางนั้นย่อมบรรจบกันเป็นเอกวิธี ความเคลื่อนไหวจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง
(2) เรื่องราวของอาคิลีสกับเต่า (Achilles and the tortoise) เป็นอุทาหรณ์ที่เขานำมาใช้สาธิตโต้แย้งความคิดกับสำนักนักคิดไพธากอรัส ที่ว่า ความจริงแท้มีความหลายหลาย โดยให้นักกรีฑาชื่ออาคิลีสที่เป็นนักวิ่งลมกรด วิ่งแข่งกับเต่าที่เชื่องช้า โดยอาคิลีสยอมให้เต่าล่วงหน้าไปก่อน เซโนกล่าวว่า ไม่มีทางเลยที่อาคิลีสจะวิ่งนำหน้าเอาชนะเต่าได้ เพราะในลู่วิ่ง เขาจะวิ่งผ่านจุดที่เต่าคลานไปถึงก่อนแล้วเสมอ โดยหลักเหตุผลแล้วเต่าจึงวิ่งนำหน้าไปอยู่เสมอ ระยะทางระหว่างคู่แข่งทั้งสองเป็นสิ่งที่ ไม่มีจุดไหนที่จะถูกวิ่งผ่านไปก่อนจุดที่ถูกวิ่งผ่านไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ เลยในแง่นี้ เป็นการโต้แย้งแนวคิดเรื่องการเคลื่อนไหวของสำนักไพธากอรัส
(3) เรื่องราวของลูกศร (The Arrow) คำถามว่า ลูกศรมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ เมื่อยิงออกไปที่เป้า ตัวอย่างนี้ เซโนใช้สาธิตโต้แย้งกับพวกไพธากอรัสที่อธิบาย ว่าด้วยความจริงเกี่ยวกับอวกาศ (the space)โดยเซโนโต้ว่า ลูกศรที่พุ่งไปในความว่างเปล่า จึงไม่มีความเคลื่อนไหวการเคลื่อนไหวจึงเป็นสิ่งลวง
และ
(4) เรื่องสัมพัทธภาพของการเคลื่อนไหว (the relativity of motion) เขาให้จินตนาการว่าผู้โดยสารที่อยู่บนรถ 3 ขบวนที่มีความยาวเท่ากัน แต่ละขบวนมีหน้าต่าง 8 หน้าต่าง ให้รถขบวนหนึ่งจอดนิ่งอยู่กับที่ และให้รถอีก 2 ขบวนวิ่งสวนกันด้วยอัตราความเร็วที่เท่ากัน หน้าต่างแต่ละช่องเป็นตัวแทนของระยะทาง เมื่อรถวิ่งหน้าต่างแต่ละช่องจะเป็นตัวแทนของหน่วยเวลา เมื่อรถทั้งสามวิ่งไปสู่ภาวะหน้าต่างตรงกันทุกช่อง ผู้โดยสารจะแยกไม่ออกเลยว่ามีการเคลื่อนที่ของรถ การเคลื่อนที่จึงเป็นสิ่งลวง
3.1.8 เอมพีโดคลีส (Empedocles: 490-430 กคศ.) ชาวซิซิลี (Sicily) ผู้สนใจในประเด็นปัญหาต่อเนื่องมาจากเซโน เขามีความเห็นว่า ความจริงแท้เป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง –Reality is fundamentally changeless. เขาอธิบายว่า สิ่งทั้งหลายประกอบด้วยอนุภาคของสสาร วัตถุจึงเปลี่ยนแปลงไปตามองค์ประกอบดังกล่าว แต่สิ่งที่เป็นอนุภาคมีโครงสร้างที่มีคุณสมบัติที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติรวมตัวกันได้ด้วยแรง 2 อย่าง เขาเรียกว่า รัก (love) และชัง (hate) หรือ กลมกลืน (harmony) กับ แตกแยก (discord) ที่ทำให้เกิดการรวมตัวและการแยกตัวของอนุภาคสสารต่าง ๆ แล้วเกิดสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาในโลกอย่างไม่รู้จบ
3.1.9 อแนกซากอรัส (Anaxagoras: 500-428 กคศ.) นักคิดที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเรื่อง “จิต” (Mind – nous) ว่าเป็นสิ่งที่แยกออกจากวัตถุ (matter) เขาเห็นด้วยกับคำอธิบายของเอมพิโดคลีสที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น และได้เสนอแนวคิดของเขาว่า ธรรมชาติของความจริงเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักว่าด้วยจิตและวัตถุ ทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ที่หลากหลายขึ้นมา แต่ละสิ่งจะมีสัดส่วนจำเพาะในตัวเอง จิต-nous เป็นตัวการที่กำหนดระเบียบโครงสร้างของสรรพสิ่ง ว่าจะเป็นไป รวม หรือ แยก ไปประกอบกันเป็นสิ่งใด ๆ ต่อไป สิ่งทั้งหลายจึงดำรงอยู่ได้ด้วยจิต จิตปรากฏอยู่ในทุกสิ่ง ทุกที่ ทุก ๆ อย่างมีชีวิตได้ด้วยจิต ไม่ว่าจะเป็นจักรวาล โลก มนุษย์ สัตว์ พืช สรรพสิ่งทั้งหลาย จิตดำรงอยู่แผ่ไพศาล จิตเป็นตัวการที่ควบคุมร่างกายมนุษย์ จิตแตกต่างจากวัตถุตรงที่ จิตเป็นสิ่งเลิศและบริสุทธิ์ ทรงสัจจ์ความรู้แท้รู้ทั่วเป็นที่สุด
3.1.10 สำนักอะตอมนิยม (The Atomists: 460-360 กคศ.) เป็นกลุ่มนักคิดนำโดยลิวซิปปุส (Leuzippus) และเดโมคลิตุส (Democlitus) ผู้มีความสนใจแสวงหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่ง สืบต่อจากธาเลส โดยสำนักนี้เชื่อว่า แก่นแท้ของสิ่งทั้งหลาย คือ อะตอม โดยเสนอในหลักแนวคิดว่าด้วยอะตอมและความว่าง (Atom and the Void) ความว่างหรือสุญญตภาพ หมายถึงบางสิ่ง ไม่ใช่ ความไม่มีอยู่อย่างไร้สิ่ง (nothing) เพียงแต่เป็นสิ่งที่อยู่ในอสภาวะ (non-being) ลิวซิปปุส ยืนยันหลักการที่ว่า อวกาศเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นแหล่งที่ตั้งอยู่ของสสารให้ดำรงอยู่ เคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงได้ ทุกสิ่งทุกอย่างประกอบด้วยอะตอม ซึ่งเป็นอนุภาคที่มีจำนวนอเนกอนันต์ (infinite number) แนวคิดของสำนักอะตอมนิยมได้เป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาว่าด้วยทฤษฎีอะตอมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ดังจะเห็นได้ว่า เซอร์ ไอแซค นิวตัน (Sir Issac Newton: 1642-1727) ก็เป็นนักคิดที่มีพื้นฐานหลักอะตอมนิยม
เดโมคลิตุส นักอะตอมนิยมระดับแนวหน้าอีกท่านหนึ่ง ได้เสนอประเด็นเกี่ยวกับการแสวงหาความรู้ ว่าด้วยโครงสร้างของธรรมชาติ (structure of nature) วิธีการแสวงหาความรู้ ในกระบวนการคิด และการรับรู้ทางผัสสะ ทั้งนี้เพราะ “อะตอม” ไม่ใช่สิ่งที่รับรู้ได้ง่าย ๆ ด้วยประสาทสัมผัสหยาบ ๆ สิ่งที่เรารับรู้ว่าเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ใช่ ความรู้ ความรู้ที่แท้เขาเรียกว่า ความรู้ต้นกำเนิดของความจริง (trueborn knowledge) ส่วนความรู้จากผัสสะเป็นความรู้อย่างหยาบ (bustard knowledge) การรับรู้ทางผัสสะ ไม่สามารถให้ความรู้ที่แน่นอนได้ เพราะจะเปลี่ยนไปตามการรับกระทบของร่างกายที่รับรู้ผัสสะแตกต่างกันไป ถึงแม้การรับรู้ทั้งสองแบบจะเป็นกลไกที่เกี่ยวเนื่องกัน นอกจากประเด็นปัญหานี้แล้ว เขายังให้ความสนใจกับปัญหาจริยศาสตร์ (ethics) โดยพิจารณาการเคลื่อนไหวของมนุษย์กับการเคลื่อนไหวของสรรพสิ่ง เขาได้เสนอแนวคิดว่า มนุษย์เราควรดำรงวิถีชีวิตแบบทางสายกลาง (moderation) แสวงหาเป้าหมายของชีวิตด้วยการควบคุมตนเองให้ดี (self-control) และด้วยจิตใจที่เบิกบาน (cheerfulness) เขาจึงได้รับการขนานนามว่า “นักปรัชญาผู้มีอารมณ์ขัน-The Laughing Philosopher”
3.1.11 นักคิดโซฟิสต์ (The Sophists:อยู่ในช่วงศตวรรษที่ 5 กคศ.) เป็นนักคิดชาวเอเธนส์ โซฟิสต์ระดับแนวหน้าเด่น ๆ ได้แก่ โปรทากอรัส (Protagoras) จอจิอุส (Gorgius) และธราซิมาคุส (Thrasymachus) นักคิดกลุ่มนี้เรียกตนเองว่า “กลุ่มผู้ทรงปัญญา” (The Intellectuals) หรือโซฟิสต์ เป็นกลุ่มนักคิดที่เปิดประเด็นปัญหาว่าด้วย ธรรมชาติของมนุษย์ ว่า ต้องมีความรู้ จึงจะจัดระเบียบพฤติกรรมของตนเองได้ ประกอบกับบรรยากาศทางการเมืองของเอเธนส์ที่เป็นเจ้าตำรับประชาธิปไตยแบบตรง(Direct Democracy) ทำให้พลเมืองเอเธนส์สนใจในศิลปะการใช้ภาษาวาทศาสตร์ ศิลปะการพูดในที่สาธารณะ เพื่อใช้แสดงวาทะกันในรัฐสภานักคิดโซฟิสต์ เป็นนักปฏิบัติที่ได้นำเอาหลักการใช้ปัญญามาควบคู่กับการฝึกทักษะด้านภาษาให้การฝึกอบรมแก่พลเมืองชาวเอเธนส์ผู้ที่สนใจอย่างกว้างขวาง โปรทากอรัส เป็นโซฟิสต์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในกลุ่ม วาทะที่โด่งดังติดปากผู้คนมาจนทุกวันนี้คือ “มนุษย์เป็นเครื่องวัดสรรพสิ่ง -Man is the measure of all things.” ถ้ามนุษย์บอกว่าสิ่งนั้นใช่ ก็ใช่ หรือถ้าบอกว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ ก็ไม่ใช่ โปรทากอรัสกล่าวเช่นนี้เพื่อจะบอกว่า เมื่อมนุษย์มีความรู้ในขีดจำกัดหนึ่ง เขาก็จะมีความสามารถในขีดจำกัดนั้น สัญญาการรับรู้ (perception) ของมนุษย์ ถูกวัดจาก สิ่งที่เรารับรู้สัญญา (what we perceive) ซึ่งแต่ละคนย่อมมีการรับรู้ที่แตกต่างกันไปวิสัยของแต่ละคน ดังนั้น จึงไม่มีมาตรฐาน (standard) ที่จะระบุชี้ชัดลงไปได้ว่า การรับรู้ของคน ๆ หนึ่ง จะถูกต้อง และการรับรู้ของอีกคนหนึ่ง ผิด เป็นเรื่องที่ยากที่จะค้นพบว่า อะไรถูกต้อง จริงแท้ที่สุด เป็นการยากที่จะแบ่งแยกให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง สิ่งที่เป็นอาการปรากฏ (appearance) กับ “สิ่งที่เป็นจริง” (reality) แนวคิดทำนองนี้เป็นแนวคิดปรัชญาญาณวิทยา หรือ ทฤษฎีความรู้ (theory of knowledge) ซึ่งโปรทากอรัส ได้สรุปแนวคิดว่า ความรู้เป็นสิ่งสัมพัทธ์ไปตามปัจเจกบุคคล (Knowledge is relative to each person.) ซึ่งเขาหมายรวมถึงเกณฑ์การตัดสินทางจริยธรรมด้วย แนวคิดของเขาจึงมีลักษณะเป็น สัมพัทธนิยม (Relativism)
จอจิอุส ได้เข้ามาพำนักที่เอเธนส์ในฐานะอัคราชทูตจากนครเลออนทินี (the city of Leontini) ในปี 427 ปี กคศ. เขามีทัศนะว่าเกี่ยวกับความรู้อย่างสุดโต่งว่า ไม่มีความจริงใดในโลก โดยเน้นบทเสนอความคิดว่า (1) ไม่มีอะไรดำรงอยู่ -There is nothing exist. (2) ถ้าจะมีอะไรดำรงอยู่ ก็เป็นสิ่งไม่สามารถเข้าใจได้ (that if anything exists it is incomprehensible) และ (3) ถ้าสามารถเข้าใจได้ก็สื่อความหมายไม่ได้ (that even if it is comprehensible, it cannot be communicated) ดังนั้นความรู้ที่มีลักษณะสัมพัทธ์จึงไม่สามารถเป็นความจริงแท้ได้ จอจิอุส จึงหันหลังให้กับปรัชญาและไปสนใจในด้านการสอนวิชาวาทศิลป์ โดยเน้นทักษะการโน้มน้าวและจูงใจคน ซึ่งเทคนิคที่เขาพัฒนาขึ้นมาใช้ เป็นเทคนิคกลลวงหลอกให้เชื่อ (the technique of deception) การใช้หลักความรู้ ผสมผสานกับหลักจิตวิทยา และอำนาจในการชี้นำ การที่เขากล่าวว่า ในโลกนี้ไม่มีความจริงแท้ ก็เพื่อนำไปใช้ในเทคนิคการจูงใจให้เกิดผลทางปฏิบัติตามที่เขาต้องการในที่สุด
ธราซิมาอุส เป็นโซฟิสต์ที่ปรากฏชื่อเอ่ยถึงในหนังสือ “The Republic” ของเพลโตในประเด็นเกี่ยวกับความอยุติธรรม (injustice) โดยเขายืนยันว่า ความอยุติธรรม เป็น สิ่งที่น่าพึงปรารถนามากกว่า ชีวิตที่เป็นธรรม (Injustice is to be preferred to the life of justice.) เขาไม่ได้มองว่า ความอยุติธรรม เป็นคุณลักษณะที่บกพร่อง เขามองเห็นว่า บุคคลที่อยุติธรรม (unjust person) คือ บุคคลที่อยู่ในฐานะเหนือชั้นกว่าและมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดกว่า ผู้ที่นำความอยุติธรรมไปสู่ความสมบูรณ์ มักจะสร้างตัวเองไปสู่ฐานะผู้เป็นนาย ของนครและประเทศชาติ ส่วนความยุติธรรม ที่ดำรงอยู่ด้วยความเรียบง่ายนำไปสู่ความอ่อนแอ ดังนั้นบุคคลจึงควรดำเนินไปอย่างมุ่งมั่นแข็งกร้าว เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนอย่างไร้ขีดจำกัดและไร้รูปแบบเพื่อการยืนหยัดมั่นคงในตนเอง เขาชื่อว่า “อำนาจ คือ ความถูกต้อง- Might is right.” กฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง กฎหมาย จึงได้รับคำนิยามว่า “เป็นสิ่งที่ถูกต้อง” ซึ่งมีนัยยะที่แท้แล้วก็คือ ผลประโยชน์และอำนาจของผู้ออกกฎหมาย เมื่อใดที่มีการกล่าวว่า สิ่งนั้นหรือการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จึงหมายความว่า สิ่งนั้นหรือการกระทำนั้นเป็นผลประโยชน์และอำนาจของพรรคการเมืองที่แข็งแกร่งกว่านั่นเอง
แนวคิดที่ไม่เชื่อมั่นในความมีอยู่ของความจริง เห็นว่าจริยธรรมเป็นเรื่องสัมพัทธ์ส่วนบุคคล มีการนำหลักจริยธรรมเรื่องความยุติธรรมไปตีความเป็นเรื่องของการแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจบนรากฐานของหลักอยุติธรรมนี้เองที่ทำให้แนวคิดของกลุ่มโซฟิสต์ มีลักษณะเป็นเจตคติไร้สัจจะ (nihilistic attitude) จึงถึงวาระที่นักคิดอย่างปรัชญาเมธีโสกราตีส จะได้เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบและวิพากษ์แนวคิดของพวกโซฟิสต์ที่มีความบกพร่องในการใช้เหตุผล ถึงแม้ว่าจะเก่งในเรื่องวาทศิลป์ ท่านโสกราตีสได้วางรากฐานการแสวงหาความรู้และความจริง ควบคู่ไปกับการแสวงหาเกณฑ์การตัดสินทางจริยธรรมที่มีหลักการมั่นคง
3.2 ปรัชญาของโสกราตีส
โสกราตีส (Socrates: 470-39 กคศ.) เป็นนักคิดชาวเอเธนส์ ที่ดูราวกับว่าเป็นกลุ่มเดียวกับพวกโซฟิสต์ เพราะเขาได้ให้ความสนใจในประเด็นวิพากษ์แนวคิดแบบโซฟิสต์ไว้มาก แต่แท้จริงแล้วโสกราตีสมีแนวปรัชญาที่แตกต่างจากโซฟิสต์อย่างสิ้นเชิง เขาได้เสนอวิธีการแสวงหาความรู้ความจริง และการตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาเชิงจริยธรรม เขายืนยันหลักการที่ว่า ความรู้และการกระทำต้องสอดคล้องกัน คือ เมื่อเข้าถึงความรู้ความจริงแล้วอย่างสมบูรณ์ ก็คือการเข้าถึงความดีอย่างแท้จริง ความรู้กับคุณธรรมจึงเป็นของคู่กัน เมื่อรู้จริงก็ต้องทำดี ดังอมตะวาทะของโสกราติสที่ว่า “Knowledge is virtue-ความรู้คือ คุณธรรม”
ถ้าสังเกตประเด็นปัญหาทางปรัชญาที่นักปรัชญาที่กล่าวมาในตอนต้นทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่จะเห็นได้ว่า สนใจเกี่ยวกับโลกธรรมชาติภายนอกตัวมนุษย์มากกว่าสนใจในเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติของตัวมนุษย์เอง โสกราตีสจึงเป็นนักคิดที่เสนอประเด็นการศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์
เมื่อโสกราตีส ได้หันมาตั้งคำถามใหม่ เกี่ยวกับ มนุษย์และการรู้จักตนเองซึ่งเพลโตเป็นผู้ที่บันทึกผลงานความคิดทางปรัชญาของโสกราตีสให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา
เพลโตจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปรัชญาตะวันตกคนแรกผู้ที่ได้เขียนหลักแนวคิดทางปรัชญาที่มีผลงานปรากฏยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้ และผลงานของเพลโตได้รับการบรรจุเป็นหลักสูตรที่ใช้ศึกษาในทุกมหาวิทยาลัยทั่วโลก
เพลโตมองว่าโสกราตีสเป็นคนอัจฉริยะผู้ได้กล่าวถึงสิ่งสำคัญ ว่าคนเราควรมีชีวิตอยู่อย่างไร และคำถามพื้นฐานว่า อะไรคือ ความยุติธรรม
โสกราตีส เป็นนักปรัชญาชาวกรีกคนแรกที่ยิ่งใหญ่ เขาเกิด และอาศัยอยู่ในเอเธนส์ ความเจริญของปรัชญากรีกอยู่ในยุคที่เรียกว่า “ยุคทอง” เขามีภรรยาและมีลูก 3 คน ในฐานะที่เป็นคนหนุ่ม เขาเรียนปรัชญาตามแฟชั่นนิยมในยุคนั้น ซึ่งต่อมานิยมเรียกว่าปรัชญากรีก “ยุคก่อนโสกราตีส Pre-Socratic” ทั้งนี้เพราะมีความแตกต่างกันระหว่างปรัชญาของโสกราตีสกับปรัชญาก่อนหน้านี้ ประการสำคัญที่ทำให้เขาดูแปลกไปจากคนอื่น ๆ ก็คือ การวิพากษ์ที่แสดงให้เห็นว่าจะยังไม่มีความพอใจในการตัดสินใจในประเด็นปัญหาปรัชญาทั้งหลายที่ผ่านมาง่าย ๆ นักคิดในอดีตได้เสนอข้อคิดเห็นใหม่ที่ดูน่าตื่นเต้นแต่ปราศจากความชัดเจนและระเบียบวิธีการคิด ดังนั้นจึงเกิดปัญหาว่า จะค้นพบได้อย่างไรว่า อะไรเป็นจริง หรืออะไรเป็นสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ อย่างไรก็ตามถ้ามีการค้นพบสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นจริง อะไรที่ทำให้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นและการหาคำตอบที่จะทำให้เรารู้ว่าพระอาทิตย์ห่างจากโลกเท่าใด ความรู้เหล่านี้ ทำให้ต้องย้อนกลับมาถามตัวเราเองว่า ถ้า พฤติกรรมของเราไม่สามารถที่จะรู้ได้โดยความรู้ แท้ที่จริงแล้ว ความรู้อย่างไหนที่ชีวิตของเราต้องการใช้ในการดำเนินชีวิต โสกราตีส จึงเริ่มต้นปรัชญาของเขา ด้วยการตั้งประเด็นคำถามว่า “อะไรดี อะไรถูกต้อง” ถ้าพวกเรารู้คำตอบสำหรับคำถามเหล่านั้นเราก็จะรู้วิถีที่เราดำรงชีวิตอยู่
โสกราตีส ไม่ได้คิดว่าเขารู้คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ และก็ไม่มีใครที่รู้คำตอบนี้เช่นกันมาก่อนล่วงหน้า ถ้า ไม่ได้มีการสงสัยและตั้งคำถามขึ้นมา เขาจึงแสดงนัยยะให้ได้ฉุกคิดไตร่ตรองว่า ผู้ที่รู้ว่าเขาไม่รู้อะไรเลย ย่อมนำไปสู่การแสวงหาความรู้ การรู้จักตนเอง เป็นความรู้พื้นฐานของความรู้เกี่ยวกับโลกธรรมชาติภายนอกตนเอง ต่อให้เขาดูประหนึ่งว่าเป็นผู้มีความรู้มากมายเกี่ยวกับโลกภายนอก แต่ถ้าเขาไม่รู้จักตนเองก็เหมือนคนที่ไม่มีความรู้ เพราะเขาจะไม่สามารถเข้าใจโลกและชีวิตได้อย่างแท้จริง
ปรัชญาตะวันตกทั้งหมดล้วนนำมาจากผลงานของเพลโต ซึ่งได้รับถ่ายทอดมาจากโสกราตีส งานเขียนทั้งหลายได้รับการนำมาบรรจุเป็นระเบียบวาระการศึกษาในเรื่องปรัชญา
การศึกษาปรัชญาของโสกราตีส จึงเป็นการศึกษาปรัชญาจากผลงานการเขียนหนังสือปรัชญาของเพลโต เมื่อเพลโตอายุประมาณ 31 ปี โสกราตีสได้ถูกกล่าวหาจากรัฐเอเธนส์ว่าเป็นผู้ยุยงปลุกปั่นให้คนหนุ่มพลเมืองของเอเธนส์หลงผิด ที่นำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงของรัฐ โสกราตีสถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการดื่มยาพิษ เป็นการตายอย่างอยุติธรรม แต่โสกราตีสเลือกที่จะยอมทำตามกฎหมายของรัฐ โดยไม่ยอมหลบหนีไปจากเอเธนส์แม้จะมีสานุศิษย์พยายามจะมาช่วยพาหนีให้รอดพ้นจากการลงโทษก็ตาม โดยยึดมั่นในหลักการที่ว่า พลเมืองของรัฐ ควรเคารพเชื่อฟังกฎหมายของรัฐ
การตายของโสกราตีสทำให้เพลโตได้รับความสูญเสียและสะเทือนใจอย่างสุดซึ้ง เพราะเขามีความศรัทธาและเคารพโสกราตีสในฐานะบรมครูปรัชญาที่ฉลาดที่สุดเท่าที่กรีกเคยมีมา ภายหลังจากการตายของโสกราตีส เพลโตจึงได้เผยแพร่เรื่องราวของปรัชญาของโสกราตีสในรูปแบบของบทสนทนา (Dialogue) ที่มีโสกราตีส เป็นตัวละครสำคัญ ในการซักถามคู่สนทนาเกี่ยวกับแนวคิดด้านศีลธรรม หลักคิดทางการเมือง และสอดแทรกแนวคิดที่ผิดพลาดลงไปในหมู่ผู้มาร่วมสนทนา ที่ราวกับจะบอกว่า โสกราตีสถูกใส่ร้าย และไม่ใช่บุคคลที่ทุจริตต่อรัฐ และเพื่อตอกย้ำให้เห็นความเป็นปราชญ์อย่างโสกราตีสเป็นคนดีที่โลกควรยกย่องไม่ใช่ทำลายให้ตายไป
การเรียนรู้ปรัชญาของโสกราตีส จึงต้องมีการอ่านบทสนทนาต่างๆ ประกอบไปตามประเด็นปัญหาที่ต้องการศึกษา เช่น ประเด็นเกี่ยวกับ การรู้จักตนเอง ปัญหาความดีและความสุข ชีวิตที่ดีคืออะไร การแสวงหาความรู้และความจริง เป็นต้น
ทฤษฎีความรู้ของโสกราตีสได้ปรากฏอยู่ในบทสนทนาชื่อ “Euthyphro-ยูไธโฟร” โสกราตีสได้ชี้ให้เห็นว่า ครูสนทนาตั้งคำถาม หาคำตอบกับศิษย์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เป็นกระบวนวิธีวิภาษ(dialectic method) เมื่อสนทนาแสวงหาความรู้ร่วมกัน ช่วยกันวิพากษ์และตรวจสอบกันเป็นระยะ ในที่สุดศิษย์จะเกิดความรู้ผุดออกมาจากสมอง ครูจึงเปรียบเสมือนหมอตำแยทางปัญญาความรู้ ของศิษย์ (Intellectual Midwife) เทคนิคการสนทนาเพื่อให้เกิดปัญญา เริ่มต้นด้วย การผลัดกันนิยาม (definition) เกี่ยวกับ สิ่งที่จะศึกษาหาความรู้ ด้วยการตั้งคำถาม เช่น “ความยุติธรรม-justice คืออะไร?” “ความงาม-beauty คือ อะไร? “ความดี-goodness คืออะไร? เป็นต้น จากนั้นผู้ร่วมวงสนทนาที่ต่างคนต่างมีประสบการณ์หลากหลาย ก็ระดมความคิดกัน ผลัดกันอธิบาย สืบค้นเข้าไปถึงการวิเคราะห์คุณสมบัติของสิ่งที่ยกเป็นประเด็นมาศึกษา ช่วยกันแสดงตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อขยายความเข้าใจ กระบวนการนี้เป็นการสืบค้นข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งที่ศึกษา (Introspection) ต่อจากนั้นก็มาถึงขั้นที่ทุกคนบรรลุถึงการสร้างแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ศึกษาด้วยพื้นฐานเป็นรูปธรรมขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถนำไปสู่กระบวนการสร้างระเบียบวิธีการอธิบายเชิงแนวคิดและสร้างสังกัปเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆได้ในระดับหนึ่ง (conceptualization) แต่ในการสนทนาจะไม่มีการสรุปคำตอบสุดท้าย ว่าคำตอบของใครเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด เป็นการเปิดกว้างให้ทุกคนมีมีโอกาสในการตัดสินใจกลั่นกรองความรู้ของแต่ละคนอย่างเป็นอิสระทางความคิด
แนวความคิดทางจริยธรรมของโสกราตีส มีหลักการพัฒนาจิต ความรู้ และคุณธรรม เป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าคุณธรรมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจิตวิญญาณ(soul) ให้ดีที่สุดแล้ว ความรู้ที่จำเป็นอันดับแรกคือ อะไรที่จะทำให้จิตวิญญาณดีได้ ดังนั้นความดีกับความรู้ จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดมาก โสกราตีสจึงบ่งชี้ว่า ความรู้ คือ คุณธรรม เช่นเดียวกับที่จะกล่าวว่า ความชั่ว (vice) บาป (evil) เป็นการปราศจากความรู้ ความชั่ว จึงเป็น ความโง่เขลาเบาปัญญา นั่นเอง การกระทำชั่วเป็นการกระทำที่ผิดพลาด เพราะจิตวิญาณเต็มไปด้วยความโง่เขลา ไม่รู้จริงคนเราถ้ามีความรู้จริง จะไม่กระทำบาป การกระทำชั่ว ผิดบาป จึงเป็นความพลั้งเผลอ ที่เป็นผลมาจากความเขลา (ignorance) มนุษย์แต่ละคน จึงต้องขจัดความโง่เขลาออกไป และเสริมสร้างจิตวิญญาณให้มีปัญญาแกร่งกล้าด้วยความรู้แท้ โสเครตีสจึงมีปรัชญาที่แตกต่างจากพวกโซฟิสต์อย่างเห็นได้ชัดเจน
ในวันสุดท้ายของชีวิต โสกราตีสได้ดื่มยาพิษ ตามคำพิพากษา เพลโตได้บรรยายเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ใน บทสนทนาชื่อ “Phraedo-เฟรโด” ว่า โสกราตีสรู้สึกตัวดี ตลอดเวลาที่ยาพิษซาบซ่านเข้าสู่ร่างกาย จากปลายเท้า ถึงหัวใจ และรู้ตัวดีว่า ความตายกำลังจะคืบคลานเข้ามาครอบงำ เขาได้กล่าววาทะสุดท้ายไว้ว่า “ไครโต…ข้าฯยืมไก่ตัวหนึ่งมาจากเอสคลีพิอุส ..อย่าลืมใช้คืนให้ด้วย” โสกราตีสได้สิ้นลมหายใจ อำลาจากโลกนี้ไปนานแล้ว แต่ความเป็นครู ความเป็นนักปราชญ์ ได้ปรากฏประจักษ์แก่โลกที่ถึงพร้อมด้วยความรู้และความเที่ยงธรรม
3.3 ปรัชญาของเพลโต
ปรัชญากรีกในช่วงศตวรรษที่ 5 และที่ 4 ก่อนคริศตกาล ถือเป็นยุคทองของอารยธรรมกรีก เพราะมีความเจริญรุ่งเรืองในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านศิลปวิทยาการ การเมืองการปกครอง โดยมีปรัชญาเป็นศูนย์รวมแห่งการแสวงหาความรู้ของการศึกษาในระดับสูงที่ได้ตกทอดมาสู่ชาวตะวันตก กล่าวกันว่า เอเธนส์ ในยุคทองเป็นบ่อเกิดและอู่อารยธรรมของโลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นวิทยาการทางปรัชญา ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ อภิปรัชญา ดาราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ทัศนศิลป์ทางด้านการปั้น การแกะรูปสลักหินอ่อน สถาปัตยกรรม ศิลปะการละคร รวมทั้งการปกครองโดยหลักประชาธิปไตยแห่งแรกที่เป็นแบบฉบับของโลก
เพลโต (Plato: 427-347 กคศ.) ศิษย์เอกของบรมครูโสกราตีส เกิดที่เอเธนส์ หนึ่งปีหลังจากมรณกรรมของเพริคลีส และปีที่เขาเกิดท่านโสกราตีสมีอายุได้ 42 ปี เป็นช่วงที่วัฒนธรรมกรีกเอเธนส์กำลังเบ่งบานเต็มที่ ครอบครัวทางบิดามารดาของเขาเป็นหนึ่งในตระกูลที่มีชื่อเสียงในสังคมชั้นนำของเอเธนส์ บิดาของเขาสืบเชื้อสายมาจากตระกูลกษัตริย์เก่าแก่ของกรีก และมารดาเป็นสตรีสังคมชั้นสูง ภายหลังบิดาของเขาเสียชีวิต มารดาได้สมรสใหม่กับไพริลัมพีส (Pyrilampes) ซึ่งเป็นสหายสนิทของเพริคลีสผู้ปกครองเอเธนส์ อีกทั้งมารดาของเขายังเกี่ยวดองเป็นญาติใกล้ชิดกับนักกฎหมายที่ยิ่งใหญ่โด่งดังนาม โสลอน (Solon) ชีวิตในวัยเยาว์ของเพลโต จึงเพียบพร้อมไปด้วยการเรียนรู้ศิลปะวิทยาการ รัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง และปรัชญาเป็นอย่างดีเยี่ยม
อย่างไรก็ตามเพลโตเกิดมาภายหลังประวัติศาสตร์ความพ่ายแพ้ของเอเธนส์ในสงครามเพโลโพเนสเซียน (The Peloponnesian War) และเหตุการณ์ต่อมาคือ การมรณกรรมของโสกราตีส ทั้งสองเหตุการณ์นี้กระทบกระเทือนใจของเพลโตเป็นอย่างยิ่งและมีอิทธิพลต่อเขาในการสร้างสรรค์ผลงานทางปรัชญาในระยะต่อมา
เพลโต เป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะงานเขียนที่บันทึกบทสนทนาของโสกราตีสไว้หลายเล่ม ในช่วงปี 387 กคศ. เขาได้ก่อตั้ง “สถาบันอคาเดมี-The Academy” ที่ให้การศึกษาอบรมความรู้ระดับสูง สถาบันแห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยแห่งแรกของชาวยุโรป สถาบันอคาเดมีเน้นการศึกษาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ที่มีการวิจัยเป็นพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ เพลโตให้ความสนใจต่อการศึกษาของรัฐบุรุษ นักการเมือง นักปกครองเป็นพิเศษ ซึ่งเขาได้กล่าวไว้ในแนวคิดปรัชญาการเมืองว่าด้วย กษัตริย์นักปราชญ์(the Philosopher King) เพลโตมีอายุยืนยาวถึง 81 ปี
ผลงานการเขียนในรูปแบบของบท สนทนา (Dialogue) และบทร้อยแก้วทางปรัชญาของเพลโตมีหลายเล่มที่ได้ตกทอดเป็นมรดกทางปัญญาของโลกที่สมบูรณ์แบบผลงานเด่นได้แก่ หนังสือชื่อ “รีพับลิค-The Republic” ที่ให้แนวคิดว่าด้วย “ธรรมชาติของความยุติธรรม -The nature of Justice”และนำเสนอแนวคิดว่าด้วย “รัฐในอุดมคติ-The Ideal State” “ซิมโพเซียม-The Symposium” เป็นบทสนทนาเกี่ยวกับธรรมชาติของความงามและ “ธรรมชาติของความรัก-the nature of love”
บทสนทนามีหลายเล่ม ตั้งชื่อตามชื่อ บุคคลที่ตั้งประเด็นสนทนากับโสกราตีสได้แก่ “เฟรโด-The Phraedo” “ลาคีส-The Laches” “ยูไธรโฟ-The Euthrypho” “ธีเททุส-The Theatatus” “พาร์มีนิดีส-The Parmenides” และ “ทิอาเมอุส-The Tiamaeus” เป็นต้น
ผลงานที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดชิ้นหนึ่งในชั้นเรียนวิชาปรัชญาทั่วโลกคือ บทสนทนาในวันสุดท้ายของชีวิตของโสกราตีส ในเล่มที่ชื่อว่า “ไครโต-The Crito” บทสนทนาเล่มที่ชื่อว่า “อโพโลกี-The Apology” และบทสนทนาเล่มที่ชื่อว่า “เฟรโด-The Phraedo” ซึ่งบทสนทนาเหล่านี้ได้บันทึกวาทะปรัชญาของโสกราตีสไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
ปรัชญาของเพลโตได้มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของชาวตะวันตกมานับเป็นพันปี เพลโตต่างจากโสกราตีส ครูของเขาตรงที่เขาได้นำประเด็นปัญหาปรัชญาของนักคิดสำนักต่างๆมาบูรณาการ หรือมาประกอบกันให้สมบูรณ์ใหม่ และสังเคราะห์ออกมาเป็นทฤษฎีทางปรัชญาที่ลุ่มลึกเฉียบคม ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับ โลกธรรมชาติ มนุษย์ และสังคม และทฤษฎีจริยศาสตร์
เพลโตเริ่มหลักปรัชญาของเขาด้วยการตรวจสอบวิพากษ์เข้าไปในสามัญสำนึกของมนุษย์ การรับรู้ในระดับสามัญสำนึก (the common sense) ของคนเราที่ได้รับรู้สิ่งต่างๆมากมายที่ผ่านเข้ามาสู่สายตา การที่จะทำให้การรับรู้เหล่านี้มีความหมายเขาได้ตระหนักว่า จิต จะต้องค้นพบหลักการที่อธิบายได้ว่าสิ่งกายภาพเหล่านั้นดำเนินพฤติกรรมไปอย่างไร การค้นหาประเด็นนี้นำจิตไปพบกับโลกที่อยู่เบื้องหลังสิ่งกายภาพเหล่านั้น นั่นคือ โลกแห่งความคิด (the world of thought) หรือโลกของจิตสังกัป (the world of ideas) โลกแห่งวิทยาศาสตร์ (the world of science)
สิ่งกายภาพทั้งหลาย (the physical things) จึงเป็นสิ่งที่นำพาจิตไปพบกับศาสตร์แห่งฟิสิกส์ (the science of physics) ในการที่จะเข้าใจถึงศาสตร์แห่งฟิสิกส์ คนเราจึงจำเป็นที่เราจะต้องมีทักษะทางปัญญาที่หยั่งรู้ในหลักคณิตศาสตร์ (mathematics) จากนั้นศาสตร์แห่งกายภาพ ก็จะนำพาเราไปสู่ความเข้าใจในพฤติกรรมของสิ่งต่างๆ มิใช่แต่เพียงเท่านี้ แต่ยังนำพาเราไปสู่การหยั่งรู้เกี่ยวกับหลักการที่กำหนดให้สิ่งทั้งหลายที่อยู่ภายใต้สภาวะเดียวกัน อย่างที่เรียกว่า เป็นหลักการ (the principles) เป็นระบบ (system) หรือ กฎ (rules) ที่คอยกำหนดหรือควบคุมกำกับให้สิ่งต่างๆดำเนินไปตามแนวทางของมัน
คณิตศาสตร์ เป็นแบบฉบับการคิดเกี่ยวกับกฎ เพราะคณิตศาสตร์มีวิธีการคิดที่หลุดพ้นจากการผูกพันอยู่กับสิ่งจำเพาะอย่าง (particulars) คณิตศาสตร์ ได้นำเพลโต เข้าสู่ศาสตร์สาขาเมตาฟิสิกส์ หรือ อภิปรัชญา (metaphysics) ถ้าจิต สามารถหลุดพ้นจากโลกแห่งอาการปรากฏ(the world of appearances) ได้ ด้วยจิตเองที่ปฏิบัติการอยู่ในโลกแห่งจิตสังกัป (the world of ideas) ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เหนือและอยู่เบื้องหลังโลกของสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตา (the world of visible things)
มาถึงจุดนี้ ย่อมมีผู้ตั้งคำถามว่า “โลกแห่งจิตสังกัป-the world of ideas มีอยู่จริงหรือไม่?” เพลโตได้ตอบคำถามนี้ว่า โลกแห่งจิตสังกัป เป็นโลกที่แย้งกับ สามัญสำนึก (the common sense) ถึงแม้ว่า โลกแห่งจิตสังกัปเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่เป็นโลกที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น สามัญสำนึกมักจะบอกเราว่า สิ่งที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง สามัญสำนึก จึงหลอกลวงการรับรู้ของเรา แต่แท้จริงแล้วโลกที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่าเป็นสิ่งที่ไม่คงที่แปรเปลี่ยนเสื่อมสูญไปได้อยู่ตลอดเวลา เช่น วันนี้เราเห็นผลแอ้ปเปิ้ลสีแดง 2 ผลวางอยู่ แต่อีกไม่นานก็จะไม่มีอยู่ แต่จิตสังกัปของความเป็น 2 จะยังคงอยู่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไป โลกแห่งจิตสังกัป จึงเป็นโลกที่อยู่พ้นกาละและเทศะ ไร้ขีดจำกัดของรูปทรงสัณฐานและการครองเนื้อที่ เป็นกลาง เป็นสากล ไม่เป็นสิ่งจำเพาะอย่าง โลกแห่งจิตสังกัป เป็นโลกที่รับรู้ได้ด้วยปัญญา (the intelligible world) การที่คนเรามีเหตุผลที่ขัดแย้งกันก็เพราะเกิดความสับสนระหว่างโลกทั้ง 2 โลก คือ โลกแห่งปรากฏการณ์ กับโลกแห่งจิตสังกัป ในขณะที่โลกแห่งปรากฏการณ์รับรู้ได้ด้วยตาเปล่า ให้ความรู้เพียงระดับความคิดเห็น(opinion) แต่โลกแห่งจิตสังกัปให้ความรู้แท้ (knowledge)
จากจุดยืนนี้เพลโตได้เจริญรอยตามแนวปรัชญาของโสกราตีส ที่ได้โต้แย้งวิพากษ์แนวคิดอสัจจะของพวกโซฟิสต์ ที่ปฏิเสธความมีอยู่ของความรู้แท้ (true knowledge) โดยเพลโตได้แสดงให้เห็นว่า ทฤษฎีความรู้ของเขาได้สร้างสะพานเชื่อมระหว่างโลกที่เป็นรูปธรรมกับโลกจิตสังกัปที่เป็นนามธรรม และโยงไปยังจริยศาสตร์ กล่าวคือ ถ้าเรามีความรู้แท้เกี่ยวกับธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง (reality) รวมทั้งธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์(the true human nature) แล้วเราก็ย่อมมีพื้นฐานที่เชื่อมโยงไปสู่ความรู้ว่ามนุษย์ควรมีความประพฤติอย่างไรพฤติกรรมของมนุษย์ ถ้ามองดูอย่างผิวเผินจะแลเห็นว่า เป็นเรื่องการกระทำส่วนตัวส่วนบุคคล แต่เมื่อไรก็ตามที่ ความเป็นส่วนตัวหรือส่วนบุคคลนั้นเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ในที่สุดก็จะก่อให้เกิดผลพวงของเรื่องอื่นๆที่เกิดขึ้นตามมา เป็นประเด็นปัญหาที่นำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับ จุดหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์
สำหรับเพลโตแล้ว เรื่องของมนุษย์ เป็นเรื่องที่จะต้องมีการจัดการอย่างจำแนกแยกแยะและสัมพันธ์กับหลักจริยศาสตร์ หลักรัฐศาสตร์ (politics) และหลักศาสนา (religion) ซึ่งเป็นแนวปรัชญาที่มีอิทธิพลต่อชาวตะวันตกในระยะต่อๆมา
ปรัชญาการศึกษาของเพลโต เน้นไปที่การพัฒนาภูมิปัญญาระดับสูงของผู้ปกครอง นักการเมือง ว่าเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ปกครองที่ดีต้องเป็นผู้มีความรู้ ทรงภูมิปัญญา ในแนวการศึกษาที่เขาเรียกว่า “วิทยาศาสตร์-scientific study” รวมทั้งการศึกษาคณิตศาสตร์ และศิลปศาสตร์ต่างๆ ซึ่งจะแตกต่างจากพวกโซฟิสต์ที่เน้นการศึกษาของนักการเมืองให้มีทักษะเฉพาะด้านวาทศิลป์และศิลปะการโน้มน้าวจูงใจคนเท่านั้น นักการเมืองที่ดีในสายตาของเพลโต ต้องเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยความรู้และคุณธรรม จึงจะสมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการบริหารรัฐ ผู้นำทางการเมือง ต้องมีความบริบูรณ์ทางภูมิปัญญา ไม่ใช่คนที่มีความรู้หรือทักษะเพียงด้านเดียว หรือมีความชำนาญเฉพาะทางแค่ทักษะการหลอกคนให้หลงเชื่อตามตัวเองผิดๆ
การศึกษาอย่างรู้รอบรู้จริงตามแนวปรัชญาของเพลโต เขาได้บรรจุวิชาคณิตศาสตร์ไว้เป็นวิชาแกนของหลักสูตร โดยชี้ให้เห็นว่า เป็นวิธีการจัดการศึกษาที่ดีที่สุดในการเตรียมความพร้อมของผู้เรียนไปสู่การแสวงหาความรู้
ในสถาบันอคาเดมีของเขา ได้มีศิษย์เอกคนสำคัญ คือ อริสโตเติล ชายหนุ่มวัย 18 ปี ได้เข้ามาศึกษากับเพลโตในปี 367 กคศ. และเป็นผู้จดบันทึกคำบรรยายความรู้ของเพลโตไว้
ทฤษฎีความรู้ของเพลโต (Plato’s Theory of Knowledge) เป็นปรัชญาญาณวิทยา ที่เพลโตพรรณนา ว่า มนุษย์ได้รับความรู้อย่างไร ความรู้มีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง โดยแสดงอุปมาอุปมัยเปรียบเทียบให้เห็นจริง 3 ตัวอย่าง ได้แก่
(1) อุปมาอุปมัยเรื่องถ้ำ-Allegory of the Cave
(2) เรื่องเส้นแบ่งพรมแดน(ความรู้)-The Divided Line
(3) หลักการว่าด้วยแบบ (The Forms)
อุปมาอุปมัยเรื่องถ้ำ-The Allegory of the Cave เพลโตได้ขอให้เราลองจินตนาการว่า มีคนจำนวนหนึ่งมีชีวิตอยู่ในถ้ำ โดยเขาเหล่านั้นถูกจองจำเหมือนนักโทษ มีโซ่ตรวนล่ามที่คอและที่ขาทั้งสองข้างไม่ให้เคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้ ถูกตรึงให้หน้าหันไปที่ผนังถ้ำด้านในเท่านั้น แม้แต่เขาเหล่านั้นจะหันศีรษะไปข้างหลังก็ไม่ได้ คนเหล่านี้จึงสามารถมองเห็นได้เฉพาะด้านที่เป็นผนังถ้ำมืดๆที่อยู่ตรงหน้าของนักโทษ ข้างหลังของนักโทษเป็นเชิงเทินพอเดินไปมาได้ ให้มีคนถือหุ่นภาพรูปต่างๆเช่น รูปคน รูปสัตว์ ต้นไม้ ดอกไม้ และสิ่งต่างๆ เดินเชิดไปมา ส่งเสียงร้องต่างๆ ถัดไปเบื้องล่างมีกองไฟส่องแสงสว่างลุกโชน แสงไฟจะสาดไปทาบกับรูปที่คนเดินเชิดไปมาอยู่ เกิดเป็นเงาสะท้อนภาพวัตถุเหล่านั้นให้ไปปรากฏเป็นเงาดำรูปร่างต่างๆอยู่บนผนังถ้ำเบื้องหน้าของนักโทษ ถัดจากกองไฟออกไปไกลโพ้น เป็นทางเดินออกไปสู่ปากถ้ำ
นักโทษที่ถูกล่ามโซ่ตรวนเหล่านั้น ไม่เคยแม้แต่แลเห็นซึ่งกันและกัน เขาไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นอยู่เบื้องหลังเขาบ้าง เขาเหล่านั้น จะเคยชินอยู่กับการมองเห็นภาพเงา (shadow)ที่ปรากฏอยู่บนผนังถ้ำ วันแล้ว วันเล่า เขาจะสะสมการรับรู้ความจริงเฉพาะเงาที่เกิดอยู่เบื้องหน้าเขา คนเหล่านั้นไม่เคยเห็นเลยว่า สิ่งที่เคลื่อนไหวเป็นเงา มีรูปร่างตัวตนที่แท้จริงอย่างไร และเขาก็ไม่รู้ด้วยว่า เงาที่ทาบอยู่บนผนังถ้ำนั้น เป็นเงาของสิ่งต่างๆอีกสิ่งหนึ่ง เมื่อเขาแลเห็นแต่เฉพาะ “เงา” ทุกเมื่อเชื่อวัน ได้ยินเสียงสะท้อนก้องของคนที่เดินเชิดวัตถุเบื้องหลัง เขาพากันเชื่อว่า เป็นเสียงที่เปล่งมาจากเงาต่างๆบนผนังถ้ำ ที่เขามองเห็น คนผู้ถูกจองจำด้วยโซ่ตรวนเหล่านั้น จึงทึกทักว่า “เงาคือความจริง (reality)”
อะไรจะเกิดขึ้น เพลโตตั้งคำถามว่า ถ้ามีนักโทษคนหนึ่งได้รับการปล่อยตัวปลดโซ่ตรวนที่ตรึงคอและขาของเขาไว้ออกไป เขาถูกสั่งให้ยืนขึ้น ให้หมุนตัวไปรอบๆ และให้ก้าวเดินออกไปทางปากถ้ำ ให้สายตาจับไปที่แสงสว่างของกองไฟ การเคลื่อนไหวเหล่านี้น่าจะนำความเจ็บปวดทรมานมาสู่นักโทษผู้นี้เพียงใด ถ้าเขาถูกบังคับให้มองตรงไปที่รูปวัตถุต่างๆที่มีคนเดินเชิด
ไปมาอยู่ แล้วมองกลับไปที่เงาตรงผนังถ้ำที่เขาเคยเห็นชินตา เขาจะเชื่อหรือไม่ว่า วัตถุต่างๆบนเชิงเทิน นั้นเป็นสิ่งจริง หรือเป็นสิ่งที่มีความหมายน้อยกว่า “เงา” ที่เขารู้จัก เขาจะรู้สึกเจ็บปวดแสบลูกนัยน์ตาเพราะถูกแสงสว่างจากกองไฟมากระทบโดยตรง
มาถึงจุดนี้ นักโทษผู้นั้นคงจะต้องรีบพาตัวเองไปสู่อิสรภาพ เขาน่าจะต้องหันกลับไปมองดูสิ่งที่เขาเคยเห็นบนผนังถ้ำให้กระจ่างชัดว่า เงา กับ สิ่งที่แท้จริง คืออะไรกันแน่ สมมุติว่า นักโทษคนนี้ยังไม่หันหลังกลับมาทางด้านกองไฟ แต่เขาถูกลากตัวออกมาสู่ปากถ้ำทันทีที่ได้รับการปลดโซ่ตรวน เขาถูกลากตัวนำออกมาสู่แสงสว่างที่เจิดจ้าของดวงอาทิตย์ ตาของเขาก็จะต้องพร่ามัวจนไม่สามารถมองดูอะไรได้ เขาคงจะต้องใช้เวลาในการปรับสายตาจนกว่าจะเคยชินที่จะอยู่กับโลกภายนอกถ้ำได้ (the world outside the cave) ช่วงแรกๆเขาจะรู้สึกสบายใจที่จะรับรู้เงาของสิ่งต่างๆตามที่เคยชินมาตอนอยู่ในถ้ำ ต่อจากนั้นเขาคงจะได้เห็นเงาในที่ต่างๆ เช่น เงาที่ปรากฏอยู่บนผิวน้ำ เมื่อหันกลับมามองสิ่งต่างๆรอบตัว เขาจะพบว่า เงา เป็นเพียงการรับรู้ภาพสิ่งต่างๆที่สลัวมัวๆ ตะคุ่มๆ มืดทึบ ไม่ชัดเจน เช่น เมื่อเขามองดูเงาของดอกไม้ ที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ทำให้ดูไม่ออกว่า กลีบดอกไม้นั้นจริงๆแล้ว มีรูปร่างอย่างไรเป็นอย่างไร สีอะไร มีกลิ่นหอมไหม แต่เมื่อเขาออกมาจากถ้ำ ในเวลานี้ เขาได้เห็นดอกไม้ อย่างที่มันเป็นดอกไม้ เมื่อเขาเงยหน้าขึ้นไปมองท้องฟ้า เขาจะได้แลเห็นสวรรค์ในเวลากลางคืน ท้องฟ้าที่ประดับด้วยหมู่ดาว ในยามค่ำคืน เขาได้เห็นแสงสว่างนวลตาของพระจันทร์ ที่มาแทนที่แสงพระอาทิตย์ที่จัดจ้าในตอนกลางวัน เขาได้รู้จักกับแสงสว่างเหล่านี้ เพลโตอธิบายว่า นี่เป็นพัฒนาการที่สำคัญในตัวของบุคคล ที่สามารถแยกแยะความจริงออกจากเงาที่เป็นเพียงภาพสะท้อนได้ไม่ใช่รู้จักแค่เงาอีกต่อไปเป็นการปลดโซ่ตรวนของความมืดบอดของปัญญาที่ถูกตรึงไว้ด้วยโลกลวงตา (the deceptive world)
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในตัวชายผู้นี้ เป็นการเปลี่ยนจากความมืดบอดของดวงจิต (a blindness of the soul) แบบพลิกผันอย่างสิ้นเชิง(conversion) ไปสู่ความสว่างของดวงปัญญา ดังนั้นการศึกษา (education) ในทัศนะของเพลโต จึงเป็นกระบวนการของชีวิตที่พลิกผันกลับ จากการรับรู้ในโลกแห่งอาการที่ปรากฏ หรือโลกแห่งปรากฏการณ์ (the world of appearance) ไปสู่การรับรู้โลกแห่งความเป็นจริง (the world of reality) กระบวนการนี้จึงเป็นการกลับใจของจิตวิญญาณครั้งสำคัญ (the conversion of the soul) ที่ทำให้จิตหันกลับไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องในการมีความรู้แท้
เพลโตอธิบายว่า โลกแห่งการรับรู้มีอยู่ 2 โลก ได้แก่ โลกแห่งความมืดของถ้ำกับโลกแห่งแสงสว่างของปัญญา แนวคิดนี้จึงเป็นการปฏิเสธหลักที่ว่าด้วยความสงสัย (skepticism) ของพวกโซฟิสต์ ที่ตั้งข้อสงสัยว่า ไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ว่า จะมีใครที่สามารถจะเข้าถึงความรู้แท้ได้ เพราะความรู้ล้วนเป็นสิ่งสัมพัทธ์ (All knowledge is relative.) แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละบุคคลจะรับรู้ สำหรับเพลโตแล้ว เขาเชื่อมั่นว่า จิตมนุษย์สามารถค้นพบและได้รับความรู้แท้ (the true knowledge) ได้ เพลโตจึงได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นระบบแบบแผนในเรื่องเส้นแบ่งพรมแดน
“เส้นแบ่งพรมแดน (ความรู้)-The Divided Line” เพลโตอธิบายว่า ในกระบวนการค้นพบความรู้แท้ จิตจะต้องมีการพัฒนาเป็น 4 ระดับขั้น แต่ละระดับ จะมีเส้นแบ่งพรมแดน ที่แสดงถึง ระดับจิต และ ระดับความคิดที่เกิดขึ้น ซึ่งแสดงเป็นแผนภาพได้ดังนี้ (โปรดดูแผนภาพในเอกสารคำสอน)
(โปรดดูภาพประกอบในเอกสารคำสอน)แกน x ถึง y มีความหมายถึงความต่อเนื่องของระดับพัฒนาการของความรู้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปสู่จุดสูงสุด เส้นคู่ขนาน แสดงถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงของการรับรู้ความจริงจากการรับรู้ในระดับต่ำสุด ไปสู่การรับรู้ในระดับสูงสุด เส้นแบ่งพรมแดนนี้ ได้ ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนที่มีขนาดไม่เท่ากัน คือ สัดส่วนที่แคบ เล็กว่า กับ สัดส่วนที่กว้าง ใหญ่กว่า ส่วนที่ใหญ่กว่า เป็นตัวแทนของ โลกที่รับรู้ได้ด้วยปัญญา (the intelligible world) ส่วนที่แคบ เล็กกว่า เป็นตัวแทนของโลกที่รับรู้ด้วยตาเห็น (the visible world) ที่แบ่งเป็นสัดส่วนที่แคบเล็กกว่า เป็นการแสดงถึงความจริงในระดับที่ต่ำกว่า ที่เรามักจะพบเห็นอยู่เสมอ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับโลกที่รับรู้ได้ด้วยปัญญาที่ยิ่งใหญ่กว่า แต่ละช่วง จะมีเส้นแบ่งพรมแดนที่เท่าๆ 4 เส้น เป็นการแบ่งระดับของแบบของการคิดจากระดับต่ำไปสู่ระดับสูงสุด
การจินตนาการ (imagining) เป็นกิจกรรมการคิดของจิตที่ฉาบฉวยและอยู่ในระดับเส้นแบ่งพรมแดนล่างสุด จิตจะรู้จักแต่ภาพลักษณ์ (image) ต่างๆ เป็นการรับรู้ที่จิตมองเห็นโลกแห่งปรากฏการณ์ของสิ่งทั้งหลายจากประสบการณ์ที่ได้รับเกี่ยวกับความเป็นจริง แต่ภาพลักษณ์ของสิ่งต่างๆ ก็คล้ายกับ เงา คือเป็นเพียงภาพสะท้อนของความจริง ไม่ใช่ความจริงที่อยู่ลึกลงไป คนส่วนใหญ่ ก็มีอาการเดียวกับนักโทษในถ้ำ ที่จะหลงติดอยู่กับ ภาพเงา ภาพลักษณ์ เป็นสิ่งที่อาจลวงตา หรือ เราทึกทักนึกคิดเอาเองได้โดยไม่ตรงกับความจริง ทำให้จิตขาดพลังในการทำความเข้าใจในความเป็นจริงเรื่องต่างๆ จึงจัดอยู่ในแบบของการคิดระดับต่ำสุด เพราะส่วนใหญ่ได้รับมาจากประสบการณ์ทางผัสสะ (the sense experience) การคิดแบบนี้ นำไปสู่ ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและนำไปอธิบายความจริงอย่างๆผิดๆได้ เช่น ความคิดเกี่ยวกับความยุติธรรม ถ้าผู้ปกครองมองเห็นด้วยความคิดแคบๆตามจินตนาการของตนเอง ก็ย่อมจะตัดสินใจไปอย่างผิดๆ เพราะไม่เข้าถึงความรู้จริงเกี่ยวกับแบบของความยุติธรรม และเป็นผลมาจากการแยกแยะไม่ออกว่า อะไรคือ ความจริงแท้ (the true knowledge ) และอะไรคือความคิดเห็น (opinion) แล้วเอาสิ่งที่เป็นเพียงความคิดเห็น มาเป็นเกณฑ์การตัดสินความจริง
ความเชื่อ (belief) เป็นแบบของการคิดที่พัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ต่อจากจินตนาการ เพลโตใช้คำว่า “ความเชื่อ” แทนที่จะใช้คำว่า “การรู้-knowing” เพื่ออธิบายสภาวะของจิต เมื่อมีการรับรู้สิ่งต่างๆ คนเราจะมีความรู้สึกหนักแน่นในการรับรู้สิ่งต่างๆที่สังเกตได้ มองเห็น สัมผัสจับต้องได้ ทำให้คนเราเกิดความรู้สึกเชื่อมั่นว่าจริง เกิดการคิดแบบความเชื่อ (believing) สิ่งที่รับรู้นั้นเป็นสิ่งที่จริง เป็นเรื่องจริง แต่แท้ที่จริงแล้ว ยังไม่ถึงขั้นของการมีความรู้จริงแท้ และคนเรามักจะเชื่อว่า ถ้ามองสิ่งใดที่มองไม่เห็น หรือจับต้องไม่ได้ ย่อมไม่มี ไม่ใช่สิ่งจริง ไม่ใช่ความจริง เช่น ความยุติธรรม เป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม ไม่มีตัวตนกายภาพให้มองเห็น หรือจับต้องได้ ทำให้บางคนมีความเชื่อว่า เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง หรือว่า เอาความเชื่อบางอย่างไปนิยาม ความยุติธรรม ความเชื่อของคนแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ในขนบธรรมเนียมประเพณี
การคิด (thinking) เป็นกิจกรรมทางปัญญาที่เกิดจากเมื่อบุคคลได้ละจากการคิดด้วยความเชื่อ ละจากการติดยึดในโลกของสิ่งที่มองเห็นด้วยตา ไปสู่โลกที่รับรู้ได้ด้วยปัญญา ก็นำเข้าไปสู่พรมแดนของความรู้แท้ ภาวะของจิตเข้าสู่กระบวนการคิดอย่างที่นักวิทยาศาสตร์คิด จิตได้กระทำปฏิบัติการต่อสิ่งที่เขามองเห็นมิใช่ด้วยการใช้การรับรู้ทางผัสสะแบบผิวเผินพื้นๆ แต่เป็นการมองเห็นสิ่งทั้งหลาย ทะลุผ่านสัญลักษณ์ เข้าสู่โลกแห่งความจริงแท้ ที่สามารถคิดได้ รับรู้ได้ด้วยปัญญา แต่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เหมือนดังเช่นที่ นักคณิตศาสตร์คิดคำนวณด้วยระบบสัญลักษณ์ เมื่อเขาเห็นรูปสามเหลี่ยม เขาจะแยกออกระหว่าง รูปสามเหลี่ยมที่มองเห็น (visible triangle) กับ รูปสามเหลี่ยม ที่รับรู้ได้ด้วยปัญญา (intelligible triangle) จากการใช้สัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรม ที่เชื่อมต่อไปยังนามธรรมที่เป็นโลกที่รับรู้ได้ด้วยการคิดทางปัญญา นำไปสู่การใช้เหตุผลจากหลักสมมติฐาน (reasoning from hypothesis) ที่เพลโตหมายถึง “ความจริงที่แจ่มชัดในตัวเอง- the self –evident truth)
การคิดหรือการใช้เหตุผลจากสมมติฐานเป็น ทำให้คนเราเกิดความรู้เกี่ยวกับความจริง แต่ก็ยังมีข้อจำกัด เพราะเป็นกระบวนการที่แยกแยะความจริงระดับต่างๆออกจากกัน ดังนั้นในระดับการคิดนี้ จิตยังไม่พอใจและยังตั้งคำถามต่อไปว่า “ทำไมความจริงอย่างหนึ่งนั้นจึงเป็นสิ่งที่จริง (to ask why a certain truth is true)”
ภูมิปัญญาสมบูรณ์ (the Perfect Intelligence) เมื่อจิตยังไม่พอใจกับคำตอบเกี่ยวกับ ความจริงของความรู้ ดังนั้นเพื่อให้บรรลุถึงความรู้สมบูรณ์ จิตจึงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างสรรพสิ่ง ในทุกๆสิ่ง ที่เรียกว่า มองเห็นเอกภาพของความจริงทั้งมวล (the unity of the whole of reality) ภูมิปัญญาสมบูรณ์ จึงเป็นสภาวะของจิตที่ยกตัวเองออกจากโลกที่มองเห็นอย่างสิ้นเชิง ในระดับนี้ จิตจะปฏิบัติการโดยตรงกับแบบ (the Forms) “แบบ” จึงเป็นวัตถุปัญญา (intelligible object) เช่น แบบของสามเหลี่ยม แบบของมนุษย์ ที่แยกออกจากสิ่งที่เป็นวัตถุกายภาพเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ในระดับนี้จิตจึงปฏิบัติการกับ “แบบบริสุทธิ์-the pure Forms”โดยไม่ต้องใช้การอ้างอิงจากสัญลักษณ์ของสิ่งที่มองเห็นอีกต่อไป ในระดับภูมิปัญญาสมบูรณ์ จิต ไม่ต้องคิดโดยการใช้เหตุผลจากสมมติฐานใดๆอีก เพราะสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งจำกัดและเป็นความจริงแบบแยกส่วน จิตจะยกระดับให้ก้าวพ้นจากการติดยึดในการคิดสมมติฐาน ไปสู่ เอกภาพของความจริงมวลรวม สภาวะจิตที่พัฒนาขึ้นสู่ระดับสูงสุดนี้ เป็นผลมาจากอำนาจแห่งการวิภาษ (the power of dialectic) ที่เคลื่อนยกจิตไปสู่จุดหมายสูงสุด (the highest goal) ของจิต เป็นอำนาจแห่งการรู้อย่างฉับพลันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของแต่ละระดับความรู้
ภูมิปัญญาสมบูรณ์ จึงหมายถึง สภาวะที่จิตมองเห็นกฎว่าด้วยความสัมพันธ์ที่มาบรรจบกันของแต่ละระดับความรู้ ทั้งหลาย (the synoptic view of reality) นั่นเอง เพลโตได้สรุปคำอภิปรายว่าด้วยเส้นแบ่งพรมแดนความรู้ว่า เส้นแบ่งทั้ง 4 ส่วนที่มีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง เป็นสภาวะของแต่ละระดับจิต ภูมิปัญญาสมบูรณ์ เป็นสภาวะสูงสุด การคิด เป็นลำดับรองจากภูมิปัญญา ความเชื่ออยู่ในระดับที่สาม และ จินตนาการอยู่ในระดับสุดท้าย
จิตแต่ละระดับ จึงมีศักยภาพด้านความสามารถในการรับรู้และเข้าถึงความจริงได้ต่างระดับกัน การรับรู้เริ่มต้นจาก ภาพสะท้อนของสิ่งต่างๆ ที่เปรียบเหมือน “เงา” ไปสู่ความเข้าใจ (reflection) ในสิ่งที่มองเห็น แล้วจึงพัฒนาไปสู่การรับรู้ผ่านจินตนาการ ความคิดเห็น ความเชื่อ ความคิดเหตุผล จนถึงการบรรลุถึงภูมิปัญญาสมบูรณ์ที่รับรู้เกี่ยวกับ “แบบ”
หลักการว่าด้วย “แบบ” ของเพลโต-The Platonic Doctrine of Forms or Ideas นี้เป็นผลงานทางปรัชญาที่สำคัญสิ่งที่เพลโต เรียกว่า “แบบ” (the Forms) หรือ “จิตสังกัป” (the Ideas) มีคุณสมบัติเป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอมตะ เป็นอสภาวะ สิ่งต่างๆรอบตัวที่เรามองเห็นล้วนเป็นสิ่งสำเนา (a copy) ของแบบ ความจริงแท้คือโลกของแบบ
ลักษณะของการนำเสนอความคิด เป็นประเด็นคำถามที่เริ่มมาจากนักปรัชญารุ่นก่อนโสกราตีส ที่กล่าวถึง “สารัตถะ” หรือ “สิ่งที่เป็นแก่นแท้” ของสรรพสิ่ง เพลโตอธิบายทฤษฎีแบบ โดยใช้ทฤษฎีความรู้ของเขาที่อธิบายว่า “ความรู้เป็นสิ่งสัมบูรณ์ (absolute)” ที่แย้งแนวคิดของพวกโซฟิสต์ที่ว่า “ความรู้เป็นสิ่งสัมพัทธ์” (relative) ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ความจริงแท้ ความจริงเป็นสิ่งสัมพัทธ์
ทฤษฎีแบบของเพลโต เป็นความตั้งใจอย่างจริงจังที่จะอธิบาย “ธรรมชาติของการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง” (the nature of existence) “ความเป็นอยู่” (Being) “โลกแห่งความจริง” (the real world) ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มีอยู่จริง และรับรู้ได้ด้วยภูมิปัญญาสมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราจะตัดสินสิ่งต่างๆและพฤติกรรมต่างๆ ว่า สิ่งนั้น สวยงาม หรือ ดีงาม ย่อมเป็นการเริ่มต้นหาคำตอบเกี่ยวกับมาตรฐานของสิ่งนั้น เช่น เกณฑ์การตัดสินความงาม เกณฑ์การตัดสินความดี ที่เราจะต้องแยกแยะ แบบของความงาม แบบของความดี ออกจาก สิ่งที่เรามองเห็นว่า สวยงาม หรือ คนที่เรามองเห็นว่า เป็นคนดี ก่อน เพราะสิ่งที่เรามองเห็นมีความผันแปรได้อยู่ตลอดเวลา แต่แบบของความงาม แบบของความดี เป็นสิ่งที่ไร้กาลเวลา (timeless) ดังนั้น เขาจึงสรุปว่า แบบ เป็นโลกที่แท้จริงที่รับรู้ได้ด้วยปัญญา เป็นโลกที่จริงที่สุด และประกอบด้วยแบบที่เป็นนิรันดร์ (the eternal Forms)
มีคำถามในเรื่องของแบบ อยู่ 5 ข้อ ได้แก่ คำถามที่ว่า “แบบคืออะไร? (What are the Forms?) คำตอบของเพลโต คือ แบบ คือ แบบแผนที่คงที่ (eternal patterns) ของสิ่งต่างๆ สิ่งที่สวยงามเป็นสำเนาของความงาม ความคิดเกี่ยวกับความงาม ( the idea of beauty) จึงเป็นแบบ ในบทสนทนาเรื่อง “ซิมโพเซียม” เพลโตอธิบายว่า เราจะเข้าใจแบบของความงามได้ จากตัวอย่างของสิ่งที่มีความงามที่คัดลอกสำเนามาจากแบบของความงาม แต่สิ่งที่สวยงาม มีข้อจำกัดเฉพาะหลายอย่าง แตกต่างจากแบบของความงาม ที่มีความคงทนเป็นสากลกว่า สิ่งที่ดูสวยงามอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่แบบแห่งความงามยังคงเป็นอมตะอยู่เสมอ ในหนังสือ “รีพับลิค” เพลโตได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นนักปรัชญาอย่างแท้จริง เขาได้ให้ความสนใจใฝ่รู้ในประเด็นความเป็นแก่นสารธรรมชาติของสรรพสิ่ง ความเป็นอยู่ ความเกิดขึ้น(the Becoming) และความเป็นแก่นสาร (essence) ว่า ล้วนเป็นแบบหรือจิตสังกัปทั้งสิ้น
คำถามข้อที่ 2 เกี่ยวกับทฤษฎีแบบ คือ “แบบดำรงอยู่ ณ แห่งใด? (Where do the Forms exist?) ในเมื่อ “แบบ” เป็นสิ่งจริงแท้ ที่ทรงไว้ซึ่งความเป็นอยู่ ความมีอยู่ นั้น มันอยู่ที่ไหน และถ้า “แบบ” ไม่มีวัตถุสภาพ (immaterial) แล้ว “แบบ”ตั้งอยู่ที่ไหน ในเรื่องนี้ เพลโตได้อธิบายไว้ชัดเจนว่า เป็นการยากที่จะระบุระวางพื้นที่ตั้งของ “แบบ”ได้ เพราะ “แบบ” เป็นอสภาวะ แต่ “แบบ” จะอยู่แยกต่างหากจากสิ่งที่เป็นวัตถุกายภาพ สิ่งที่เราเห็น แยกออกจาก “แบบ” โดย “แบบ” เป็นสิ่งที่เป็นอิสระจากสิ่งที่ปรากฏ (independent existence) “แบบ” เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่มาก่อนสิ่งที่เป็นวัตถุ “แบบ” จึงเป็นบ่อเกิด ของแก่นแท้ของสรรพสิ่ง เป็นความจริงแท้ “แบบ”สถิตอยู่ในจิตของพระผู้เป็นเจ้า และแบบเป็น “ตัวแทน”หลักว่าด้วยเหตุผลในจักรวาล
คำถามข้อที่ 3 “อะไรคือสัมพันธภาพของ “แบบ”กับสิ่งต่างๆ” (What is the Relation of Forms to things?) “แบบ”สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆได้ 3 วิถีทาง คือ (1) “แบบ” เป็นปฐมเหตุของสารัตถะของสิ่งต่างๆ ( A Form is the cause of the essence of a thing .) (2) สิ่งแต่ละสิ่งมีส่วนร่วมอยู่ใน “แบบ” (A thing participates in a Form.) (3) สิ่งๆหนึ่งเป็นสำเนาของ “แบบ” หนึ่งๆ (A thing is a copy of a Form.)
คำถามข้อที่ 4 “อะไรคือสัมพันธภาพระหว่าง “แบบ” กับ “แบบ” ซึ่งกันและกัน” (What is the Relation of Forms to Each Other?” เพลโตตอบว่า เราติดตามความสัมพันธ์นี้ได้จากการถักทอกันของ “แบบ” ทั้งหลาย (the weaving together of Forms) ที่เราค้นพบได้ในลักษณะความเป็นสากล ความเป็นแก่นแท้ สารัตถะของสรรพสิ่งในจักรวาล เมื่อเราอธิบายสิ่งๆหนึ่ง เช่น ช่างไม้ สุนัข ก้อนหิน เราให้คำนิยาม (definition) เกี่ยวกับสิ่งๆนั้นอย่างจำเพาะเจาะจง จากประสบการณ์ของเราเอง ในขณะเดียวกัน เราก็ได้ใช้ภาษาของเราที่เปิดเผยไปสู่ความเชื่อมโยงระหว่าง “แบบ”ของสิ่งหนึ่งกับ”แบบ”ของสิ่งอื่นๆ เช่น “แบบของคน” “แบบของสุนัข” “แบบของหิน” ดังนั้น “ แบบ”จึงนำเราไปสู่การเกาะเกี่ยวกันอย่างเป็นเอกภาพของ “แบบทั้งมวล”
คำถามข้อที่5 “เรารู้จัก “แบบได้อย่างไร?” (How do we know the Forms?) เพลโตบอกว่า เรารู้จัก “แบบ” ได้ 3-ทางด้วยการค้นพบของจิต ได้แก่ (1) ด้วยความระลึกได้ (the Recollection) ที่เกิดจากความทรงจำ ทำให้เราสำนึกรู้ว่า กายกับจิตเป็นหนึ่งเดียวกัน จิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่คุ้นเคยกับ “แบบ” เราจะรู้ถึงความมีอยู่ของแบบ (2) ด้วยกิจกรรมการวิภาษ (the activity of dialectic) ที่ทำให้เกิดการทดทอนเกี่ยวกับสารัตถะของสิ่งต่างๆ ที่นำไปสู่การค้นพบสัมพันธภาพระหว่างความรู้ จนกระทั่งบรรลุถึงความรู้แท้ขั้นสูงสุด และ (3) ด้วยพลังแห่งความปรารถนา (the power of desire) ได้แก่ พลังรัก (love, Eros) ที่นำพามนุษย์ก้าวเดินไปทีละก้าว ที่เพลโตได้กล่าวไว้ใน “ซิมโพเซียม” ว่า การก้าวเดินที่เริ่มจากสิ่งที่สวยงามไปสู่ความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่สวยงาม จนไปถึงแก่นแท้ที่เป็นสารัตถะของความงาม ทำให้เราได้รู้จัก”แบบ”ในที่สุด
หลักจริยศาสตร์ของเพลโต จากทฤษฎีแบบ เพลโตได้นำมาอธิบายเกี่ยวกับ “ความดี” เป็นการสร้างปรัชญาศีลธรรมที่แตกต่าง พวกโซฟิสต์อ้างว่า “ความดีไม่มีอยู่จริง ความดีเป็นสิ่งสัมพัทธ์” พวกโซฟิสต์ยังมีความเห็นว่า ความดีและศีลธรรม เป็นสิ่งไม่ใช่ธรรมชาติ ( Moral rules are unnatural.) ที่คนต้องเชื่อฟังเพราะถูกกดดันจากมติมหาชน (the pressure of public opions) โดยทั่วไปแล้วไม่มีใครอยากปฏิบัติตามกฎของศีลธรรม แก่นแท้ของความยุติธรรม คืออำนาจ อำนาจคือธรรม และถ้าถามคนทุกคนว่า “ ชีวิตที่ดีคืออะไร” คนทั่วไปต้องอยากจะตอบว่า ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่มีแต่ความสนุกเพลิดเพลิน (the life of pleasure) เพลโต ได้โต้แย้งแนวคิดประเภทนี้ ด้วยการกล่าวนำวาทะของโสกราตีสที่ว่า “ความรู้ คือ คุณธรรม” จากนั้นเพลโตได้วางรากฐานปรัชญาจริยศาสตร์ด้วย “หลักแห่งจิตวิญญาณ” (the concept of the soul) และทฤษฎีคุณธรรมในฐานะเป็นกิจกรรมตามหน้าที่ (the theory of virtue as function)
“จิตวิญญาณ-the soul” ในทัศนะของเพลโต ได้กล่าวไว้ใน “รีพับลิค-the Republic” มีหลักแนวคิดว่า จิตวิญญาณมีองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นเหตุผล (reason) ส่วนที่เป็นสปิริต (spirit) และส่วนที่เป็นความอยากใคร่ (appetite) รวมเรียกว่าไตรสภาวะของวิญญาณ ถ้ากิจกรรม 3 ส่วนนี้ขัดแย้งกันก็จะมีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ แล้วแต่ว่า ส่วนใดจะมีอิทธิพลครอบงำส่วนที่เหลือ พฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากแรงผลักดันของวิญญาณ 3 ส่วนนี้ ส่วนของเหตุผลจะทำกิจกรรมในส่วนที่เป็นการแสวงหาความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความจริง จุดมุ่งหมายและคุณค่าที่ดีของชีวิต ส่วนของสปิริต เป็นส่วนที่แสวงหาความเพลิดเพลินใจไปต่างๆ
นานา (pleasure) และส่วนของความอยากใคร่ ก็มุ่งแสวงหาการสนองตอบทางด้านรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส (sensual appetites) จิตวิญญาณ เป็นหลักของชีวิต ถ้าไม่มีจิตวิญญาณ ร่างกายก็จะไร้ชีวิตชีวา (inanimated) ถ้าภายในจิตวิญญาณไม่มีความกลมกลืนกันระหว่าง 3 ส่วนที่กล่าวมาก็จะทำให้ชีวิตมนุษย์มีปัญหา
เพลโตได้ยกตัวอย่างประกอบแนวคิดเรื่องนี้ไว้ใน “เฟดรัส-the Phaedrus” เขาวาดภาพให้เห็น สารถีผู้กำลังขับเคลื่อนรถเทียมม้า 2 ตัว อาชาไนยตัวหนึ่งเป็นม้าดี เพียงแค่ออกคำสั่งก็ควบไปตามจุดหมายปลายทาง แต่อาชาไนยอีกตัวเป็นม้าเลว ต้องกำกับควบคุมด้วยการหวดแส้และลงสเปอร์อยู่ตลอดเวลา เพราะดื้อและพยศชอบเฉไฉไปตามอำเภอใจ ทำให้การควบคุมบังเหียนมีแต่ปัญหายากลำบาก ดังนั้นถ้าสารถีควบคุมม้าไม่ดี ม้าเลวก็อาจจะพาไปสู่ความยุ่งยากได้ เขาจะต้องเดินทางไปให้ถึงจุดหมายปลายทางด้วยม้าทั้ง 2 ตัวนี้ ไม่มีตัวใดตัวหนึ่ง รถก็จะขับเคลื่อนไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงต้องพยายามบังคับม้าทั้ง 2 ตัวให้ควบประสานเข้าขากันให้ดี จึงจะเดินทางไปโดยไม่มีปัญหาอุปสรรค สารถีเปรียบเสมือน “ส่วนเหตุผล” ที่รู้ดีว่าจุดหมายที่แท้จริงคือที่ไหน ไปในทิศทางใด ม้าดี เปรียบเหมือนสปิริต ใจที่ดี และม้าเลว เหมือนกิเลสตัณหา ความอยากใคร่ ที่มักดื้อรั้น แยกแยะไม่ออกว่าอะไรสำคัญก่อนและหลัง อะไรจริง อะไรไม่จริง เอาแต่จะแสวงหาความใคร่ทางผัสสะมาสนองตอบไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าสารถีกำกับดูแลให้เกิดเอกภาพของทั้ง 3 หน่วยนี้ ชีวิตก็ดำเนินไปสู่จุดหมายที่ถูกต้องและมีความสุข
“เหตุแห่งความชั่วร้าย” เป็นเพราะเกิดความเขลาและหลงลืม เนื่องจากจิตวิญญาณสูญเสียดุลยภาพระหว่าง ส่วนประกอบ 3 ส่วน เมื่อจิตวิญญาณได้ฟื้นฟูสภาพให้กลมกลืนแล้ว เหตุผลจะนำไปสู่การรู้จักความจริงและความดี คุณธรรมจึงเป็นความบริบูรณ์ของกิจกรรมทางจิตวิญญาณ ความดีย่อมนำไปสู่ความสุข ความจริง ความดี และความสุขจึงเป็นของคู่กัน วิธีการขจัดความเขลา มนุษย์ต้องเสริมสร้างพลังของปัญญาที่ทรงเหตุทรงผล ภารกิจทางปัญญาและเหตุผลมีหลายประการ เช่น คอยกำกับดูแลสปิริต ด้วยรู้จักคุณธรรมแห่งความพอดี ( the virtue of temperance) รู้ว่าความพอเหมาะ คืออะไร รู้จักคุณธรรมแห่งความกล้าหาญ (the virtue of courage)
คนเราควรกล้าในสิ่งที่ควรกล้า กลัวในสิ่งที่ควรกลัว
ปรัชญาการเมืองของเพลโต เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของจริยศาสตร์ที่กล่าวมา ความยุติธรรมเป็นคุณธรรม เพราะเป็นสิ่งที่แสดงถึงสังคมที่ดี (the good society) “รัฐ-the state” ก็คือภาพเหมือนของมนุษย์ ในรีพับลิค เขาได้วิเคราะห์ธรรมชาติของรัฐ (the nature of the state) กับ โครงสร้างธรรมชาติของมนุษย์ (the structure of human nature)
รัฐ จึงเป็นสถาบันธรรมชาติ (a natural institution) มนุษย์ มีธรรมชาติอย่างไร รัฐก็มีธรรมชาติอย่างนั้น รัฐเกิดขึ้นมาจากธรรมชาติของมนุษย์ที่โดยลำพังมนุษย์ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตนเองได้หมด ต้องอาศัยซึ่งกันและกันและรวมตัวกันเป็นสังคม ความต้องการของมนุษย์จำแนกเป็น 3 ประเภทตามโครงสร้างของจิตวิญญาณ ได้แก่ ความต้องการที่จะแสวงหาความรู้และความจริง ของส่วนที่เป็นปัญญาและเหตุผล ความต้องการที่จะทำงานให้แก่สังคมบ้านเมือง ของส่วนที่เป็นสปิริต และความต้องการที่จะผลิตสิ่งต่างๆมาสนองความต้องการทางวัตถุ ได้แก่ส่วนที่เป็นความอยากใคร่ สมาชิกของสังคมทุกคนจึงมีภาระหน้าที่แตกต่างกันไปตามความสามารถ ผู้หญิง ผู้ชาย ต่างมีความเท่าเทียมกัน เพลโต ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์ ให้บรรลุถึงศักยภาพสูงสุดแห่งตน ด้วยการจัดการศึกษารวมโดยรัฐ และให้มีการสอบคัดเลือกเป็นระยะๆในสังคมอุดมคติของเพลโต จะขจัดความลำเอียงที่เกิดจากระบบครอบครัวแบบคู่สมรสเดี่ยว มาเป็นความรักแบบอิสรเสรี หญิง ชาย จับคู่ไปตามใจชอบ
หนุ่มสาวที่จับคู่กันเมื่อมีลูก ก็ไม่ต้องเลี้ยงดูเอง รัฐจะทำหน้าที่ดูแลเลี้ยงดูให้อย่างเท่าเทียมกัน เด็กๆ ชาย หญิง จะเรียนรวมกัน ฝึกฝนให้ถึงพร้อมด้วยความสมบูรณ์ทางร่างกาย ด้วยวิชาพลศึกษา ให้มีการเรียนดนตรีเพื่อพัฒนาจิตใจให้สมบูรณ์ พออายุครบ 20 ปี มีการสอบคัดเลือกว่า ใครมีความถนัดในส่วนไหน ก็ไปพัฒนาทักษะตามความถนัด ผู้ที่เรียนต่อไปไม่ไหว ก็ไปฝึกฝนวิชาชีพด้านการผลิต ช่างศิลปะต่างๆ ผู้ใช้แรงงาน และค้าขาย ผู้ที่สอบคัดเลือกผ่านก็จะได้รับการศึกษาต่ออีก 10 ปี เป็นการศึกษาศิลปวิทยาการชั้นสูงขึ้น เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ เป็นต้น เป็นการพัฒนาสู่ความเป็นปัญญาชน พออายุได้ 30 ปี มีการสอบคัดเลือกอีกครั้ง ผู้ที่สอบไม่ผ่าน จะไปทำงานเป็นพวกนักรบ ทหาร ทำหน้าที่ป้องกันรัฐให้ปลอดภัยจากสงครามของผู้มารุกราน
ผู้ที่สอบผ่านขั้นที่สองนี้ ไม่ว่า หญิง หรือ ชาย จะได้รับการส่งเสริมให้ศึกษาต่อในระดับที่สูงสุดคือ วิชาปรัชญา และเข้ารับการฝึกอบรมด้านการเมืองการปกครอง ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมเวลาศึกษาอย่างน้อย 20 ปี จนกระทั่งอายุครบ 50 ปี จึงถึงพร้อมที่จะเป็นนักปกครอง ที่เรียกว่า “ราชาปราชญ์-the Philosopher King” ของ รัฐในอุดมคติของเพลโต
ปรัชญาของเพลโต เป็นกระแสความคิดที่มีอิทธิพลกับปรัชญาตะวันตก และปรัชญาคริสตศาสนาในระยะเวลาต่อๆมานับเป็นพันปี กระแสแนวคิดของเขาได้รับความนิยมสูงต่อมาเป็นระยะๆ เรียกว่า ปรัชญาเพลโตนิยมใหม่ (the Neo –Platonism)
3.4 ปรัชญาของอริสโตเติล (Aristotle: 384-322 กคศ.)
อริสโตเติลเป็นทั้งนักปรัชญา และนักวิทยาศาสตร์ ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเช่นเดียวกับครู เขา คือ ท่านเมธีเพลโต และบรมครูโสกราตีส เขาเกิดที่เมืองสตาจิรา (Stagira) ในแคว้นมาซีโดเนีย (Macedonia) บิดาของเขาเป็นแพทย์ในราชสำนัก เมื่อเขาอายุได้ 17 ปี ได้เข้าศึกษาต่อที่สถาบันอคาเดมีของเพลโต ที่เอเธนส์ และได้อยู่ที่สถาบันนี้อีก 20 ปีทั้งในฐานะนักศึกษาและอาจารย์ เมื่อเพลโตถึงแก่กรรมในปี 347 กคศ. อริสโตเติล ได้ย้ายไปพำนักที่นครแอสซ็อท (Assos) แถบเอเชียน้อย ณ ที่ซึ่งเพื่อนของเขาเป็นผู้ปกครองดินแดนอยู่ เขาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาและได้หลานสาวของผู้ปกครองนครนั้นเป็นภรรยา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง เขาจึงลี้ภัยไปอยู่เพลลา เมืองหลวงของมาซีโดเนีย ณ ที่แห่งนี้ เขาได้ทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ถวายความรู้แก่พระยุพราช ซึ่งต่อมาคือ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) ในปี 345 กคศ. เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์สมบัติ อริสโตเติล ก็ได้กลับมาเอเธนส์ และตั้งสถาบันการศึกษาชื่อ “สถาบันลิซิอุม-the Lyceum” การศึกษาที่สถาบันแหงนี้ ครูกับศิษย์มักจะเดินสนทนาความรู้กันจนเป็นที่เรียกขานในภาษากรีกว่า “the Peripatetic” มีความหมายตรงกับคำอังกฤษว่า “walking หรือ strolling” ที่แปลว่า เดิน หรือทอดน่อง หรือสถาบันเดินไปเรียนไป
ผลงานของอริสโตเติล มีหลากหลายด้าน ได้แก่ ตำราทางตรรกศาสตร์ ชื่อ “Organon” (“instrument”) ตำรา ชื่อ “ฟิสิกส์ –Physics” ที่ผสมผสานรายละเอียดเกี่ยวกับธรรมชาติ พืช สัตว์ ดาราศาสตร์ โดยเขาเรียกว่า “ปฐมปรัชญา-Prote philosophia-the First Philosophy” ต่อมาเขียนตำราชื่อ “เมตาฟิสิกส์-the Metaphysics” ซึ่งเป็นหลักความรู้เกี่ยวกับโลกและจักรวาล เขาได้เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ตั้งชื่อตามชื่อของบุตรชาย นาม นิโคมาคัส (Nicomachus) เป็นหนังสือด้านจริยศาสตร์ ชื่อ “จริยศาสตร์นิโคมาชีน-the Nicomachean Ethics” และตำราเล่มเด่นอีกเล่ม 3 เล่ม คือ หนังสือชื่อ “วาทศาสตร์-the Rhetoric” หนังสือชื่อ “กวีนิพนธ์-the Poetics” และ “รัฐศาสตร์-the Politics”
เทคนิคการสร้างหลักปรัชญาของอริสโตเติล ใช้พื้นฐานของหลักชีววิทยา ในขณะที่เพลโต ใช้รากฐานทางคณิตศาสตร์ อริสโตเติล ศึกษาสิ่งแต่ละสิ่งที่มาก่อตัวรวมเป็นกลุ่มสายพันธุ์เดียวกัน มองดูความเจริญเติบโตในแต่ละช่วง มีการเฝ้าสังเกตการณ์ นับได้ว่า ในแนวทางปรัชญาของอริสโตเติลแล้ว ปรัชญากับวิทยาศาสตร์ ได้รับการนำมาบูรณาการเป็นวิธีการแสวงหาความรู้ใหม่ โดยเริ่มต้นจากการสังเกตการณ์ เก็บข้อมูล ซึ่งเป็นวิธีประจักษ์นิยม (empiricism) จากนั้นจึงสร้างคำอธิบายความรู้ด้วยเทคนิคการใช้เหตุผลนิรนัย (rational deduction)
แนวปรัชญาที่เด่นคือ หลักแนวคิดว่าด้วยปัจจยการ (the notion of causality) ที่แสวงหาคำตอบว่า โลกและจักรวาลที่ดำเนินอยู่ มีอะไรเป็นปฐมเหตุ จึงนำไปสู่ผลต่างๆ สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
วิชาการของอริสโตเติล ที่แสดงไว้ในรูปแบบการบูรณาการทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ มีหลากหลายด้าน ได้แก่ ชีววิทยา ดาราศาสตร์ จิตวิทยา จริยศาสตร์ ตรรกศาสตร์ อภิปรัชญา รัฐศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ และการวิจารณ์วรรณกรรม ซึ่งมีเนื้อหาที่ลุ่มลึกทางปัญญาและมีอิทธิพลต่อมนุษยชาติตลอดมา.